IRPC เร่งฟื้นธุรกิจผ่าน 4 กลยุทธ์ เดินหน้าคุมต้นทุน-เพิ่มมาร์จิ้น ดันผลงาน Q2 พลิกบวก

IRPC เร่งฟื้นธุรกิจผ่าน 4 กลยุทธ์ เดินหน้าบริหารทรัพย์สิน สร้างกระแสเงินสด หนุนสภาพคล่อง-ลดหนี้ พ่วงลุยพัฒนา Green Energy และจับมือพันธมิตรต่อยอดธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ระยะยาว พร้อมพลิกฟื้นผลประกอบการ ชี้ Spread เริ่มมีสัญญาณดีตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. ลุ้นผลประกอบการไตรมาส 2/68 ฟื้นตัว


นางสาวเอธิตา อนันตธุรการ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)หรือ IRPC เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 บริษัทฯบันทึกขาดทุนสุทธิ 1,206 ล้านบาท เทียบไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบหลักจาก Market GIM ที่ลดลง

โดย Market GIM (Market Gross Integrated Margin) อยู่ที่ 6.34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจาก 9.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การลดลงของ Market GIM มาจากปัจจัยหลักคือ GRM (Gross Refining Margin) ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมที่ลดลง จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปรับตัวลดลง ตามสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการซื้อที่ลดลง รวมถึงแรงกดดันด้าน Supply

อีกทั้ง P2F (Product to Feed Margin) ในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีลดลงเล็กน้อย แม้จะมีปัจจัยหนุนจากต้นทุน Feed Premium ที่ลดลง แต่โดยหลักแล้วลดลงจากปริมาณขายและ Spread ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโอเลฟินส์

โดยภาพรวมตลาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นราว 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากแรงหนุนของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและอิหร่าน อย่างไรก็ตามราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว รวมถึงการยกเลิกมาตรการลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ (Voluntary Cut) ของ OPEC+

อย่างไรก็ตาม IRPC มีกลยุทธ์หลักในการยกระดับผลการดำเนินงาน (Performance Uplift) ในธุรกิจหลัก โดยเน้นการทำงานร่วมกันกับกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นผ่าน 4 แกนสำคัญดังนี้

1.การยกระดับประสิทธิภาพในธุรกิจหลัก (Core Business Performance Uplift) มุ่งเน้นธุรกิจหลักทั้งในส่วนของปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ โดยพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และหาช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้ปริมาณขายและส่วนต่างกำไร (Margin) ที่สูงขึ้น และฝ่ายจัดการพยายามดูแลเรื่องการประหยัดต้นทุน (Cost Saving) อย่างเข้มงวดในทุกจุดของโรงงานและ Supply Chain และพยายามลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ลงจากปีก่อน

2.การบริหารจัดการสินทรัพย์และการลงทุน (Asset & Subsidiary Management) โดยบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ เช่น ที่ดิน ท่าเรือ และ Tank Farm โดยมีการศึกษาและเริ่มดำเนินการจัดการที่ดินบางส่วนเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่จะมาประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่ระยอง และมีการพูดคุยกับ Partner เพื่อบริหารจัดการส่วนของท่าเรือและ Tank Farm อย่างจริงจัง กระบวนการนี้มีความคืบหน้าและรวดเร็วขึ้นจากการร่วมทำงานภายในกลุ่ม ปตท.โดยเงินที่ได้จากการทำ Asset Monetization จะนำมาใช้ดูแลภาระหนี้สินระยะยาว และบริหารจัดการสภาพคล่อง

นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการบริษัทในเครือ (Subsidiary Management) โดยทยอยปิดบริษัทในเครือที่ไม่ได้สร้างรายได้ และพยายามยกระดับผลการดำเนินงานของบริษัทลูกที่สร้างรายได้ เพื่อให้มีเงินปันผล อาจมีการเจรจาเพื่อขายเงินลงทุนในส่วนที่นักลงทุนอื่นสนใจ เพื่อสร้างกระแสเงินสดและกำไรให้กับบริษัทในช่วงช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า และนำเงินที่ได้มาบริหารสภาพคล่อง

3.ธุรกิจใหม่และการเติบโตในอนาคต (Step and Beyond) ยังคงศึกษาและเจรจากับ Partner สำหรับธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง มี MOU กับ Partner สำหรับสารเคลือบ (Advanced Material Coating) ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างศึกษาเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม และลงทุนในพลังงานสีเขียว (Green Energy) และพลังงานหมุนเวียน โดยเพิ่มการติดตั้ง Solar Farm ภายในพื้นที่ประกอบกิจการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ Solar Farm ให้กับหน่วยงานที่สนใจ รวมทั้งดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Health and Life Science โดยเฉพาะความร่วมมือกับโรงพยาบาลบำบัดเวช บางปะกง ที่อยู่ระหว่างพัฒนาอย่างเข้มข้น

4.การบริหารจัดการทางการเงิน (Financial Management)การดูแลภาระหนี้สินและดอกเบี้ย เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดูแล และการบริหารสภาพคล่องโดยพยายามจัดเตรียมเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดบได้มีการออกหุ้นกู้ 11,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคม เพื่อเตรียมชำระคืนหนี้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด และมีการทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพิ่มเติม 1,500 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2 ปี 2568 บริษัทเร่งบริหารจัดการต้นทุนให้เข้มงวดมากขึ้น และจะพยายามลดระดับ Inventory ลงจากเป้าหมายเดิม 8 ล้านบาร์เรลเหลือประมาณ 7 ล้านบาร์เรล เพื่อลด Stock Loss ที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจากมีปัจจัยบวกเสริมคือ Spread ของผลิตภัณฑ์น้ำมันเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายเดือนเมษายน ส่วนประเด็นที่กลุ่มโอเปกพลัส เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก ระบุว่าต้องติดตามภาพรวมตลาดก่อนว่าราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ส่วนแนวโน้มค่าการกลั่น (Refining Margin) ในไตรมาส 2 – 3 ปี 2568 คาดว่าสเปรดน่าจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามปัจจัยบวกฤดูกาล (Seasonal Support) เช่น กิจกรรมก่อสร้างและการขนส่งในเอเชียสนับสนุนดีเซล ประกอบกับสหรัฐเข้าสู่ฤดูการขับขี่ (Driving Season) สนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน และความต้องการน้ำมันเพื่อการผลิตไฟฟ้าในฤดูร้อนของตะวันออกกลางและเอเชียจะสนับสนุนน้ำมันเตา

ส่วนแนวโน้มทั้งปี 2568 บริษัทยังคงมีเป้าหมายการเติบโต แต่ปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจ สงครามการค้า และภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรก อย่างไรก็ตามมีการวางแผนทั้งในระดับ Stand Alone และระดับกลุ่ม PTT เพื่อบริหารจัดการให้ผลการดำเนินงาน ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมให้มากที่สุด

Company Snapshot

Back to top button