
“ดีอี” สั่งระงับเบอร์โทร “กลุ่มมิจฉาชีพ” กว่า 7,000 เลขหมาย ป้องกันหลอกลวงประชาชน
ดีอีสั่งระงับเบอร์โทรมิจฉาชีพกว่า 7,000 หมายเลข หลังพบใช้หลอกลวงเหยื่อทั่วประเทศ เร่งตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ ก่อนประชาชนตกเป็นเหยื่อรายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 4/2568 ที่มีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมด้วยตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ร่วมหารือเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่ประชุม ครม.ได้ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมฯ พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 21 (1) เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมจำนวน 3 คดีความผิด ดังนี้
1) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
2) คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
3) คดีความผิดกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า 2 ใน 3 ของคดีพิเศษที่กำหนดเพิ่มเติมนั้น เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ และมีความสอดคล้องกับ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
สำหรับในการประชุมได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 7 เรื่องสำคัญ ที่มีผลการดำเนินงาน ถึง 30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดยสรุปได้ดังนี้
1.การปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ เดือน เมษายน 2568 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
การจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 66 – เมษายน 68 มีจำนวนทั้งสิ้น 59,279 ราย โดยในเดือน เมษายน 2568 มีการจับกุมจำนวน 1,965 ราย
การจับกุมคดีพนันออนไลน์ คดีพนันออนไลน์ ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 66 – เมษายน 68 มีจำนวนทั้งสิ้น 25,519 ราย โดยในเดือนเมษายน 2568 มีการจับกุมจำนวน 823 ราย
ผลการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า และความผิดตาม พรก.ฯ ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 66 – เมษายน 68 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,386 ราย โดยในเดือนเมษายน 2568 มีการจับกุมจำนวน 277 ราย
- การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ (ปีงบประมาณ 68 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 67 – 30 เม.ย. 68)
การปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 52,106 (URLs) หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 1,167 (URLs) และอื่นๆ 39,657 (URLs) รวมทั้งสิ้น 92,930 (URLs)
การประสานแพลตฟอร์มเพื่อขอปิดกั้นเกี่ยวกับหลอกลวงออนไลน์ ที่มีคำสั่งศาล จำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 10,148 (URLs) ที่ไม่มีคำสั่งศาล มีจำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 29,526 (URLs) (เฉพาะในส่วนของกระทรวงดีอี)
- การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน
ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 30 เม.ย. 68 มีดังนี้
AOC ระงับบัญชีชั่วคราว จำนวน 383,552 บัญชี
ปปง. ทำการอายัดบัญชีไปแล้วจำนวน 767,755 บัญชี (ณ วันที่ 20 พ.ค. 68)
4.มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า และ SMS แนบลิงก์
มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า (ซิมของบุคคลต่างด้าว) กสทช.จะมีการควบคุมการลงทะเบียน ซิมของของบุคคลต่างด้าว โดยจะจำกัดไว้ที่ จำนวน 3 ซิม ต่อ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมีระยะเวลาในการปรับปรุงระบบให้แล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม 2568
การบริหารจัดการ SMS แนบลิงก์
กสทช. ได้กำหนดให้ ผู้ใช้บริการที่มีความประสงค์จะส่ง SMS แนบลิงก์ ลิงก์ดังกล่าวต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจาก สกมช. ก่อนส่งข้อความสั้น โดยลิงก์ที่ส่งจะต้องนำไปสู่เนื้อหาที่ต้องการสื่อสารเท่านั้น เช่น สำนักงาน กสทช. จะต้องไปยังเว็บไซต์ “www.nbtc.go.th” ห้ามนำไปสู่แพลตฟอร์มอื่น และห้ามไม่ให้มีข้อความที่ระบุช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น เช่น การ Add Line
สำหรับมาตรการลงโทษ กรณีพบว่าผู้ใช้งาน Sender Name ใด มีการส่งลิงก์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ หรือผู้ส่งปลอมแปลงลิงก์ระหว่างการส่ง SMS หรือข้อความอื่นที่สามารถใช้เป็นช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น ผู้ให้บริการจะต้องยกเลิกสัญญาการให้บริการ
ขณะเดียวกัน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ตามมาตรา 4/1 วรรคสอง ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคัดกรองเนื้อหาข้อความสั้น (SMS) ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรการที่สำนักงาน กสทช.กำหนดด้วย ดังนั้น หากตรวจสอบพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมสำนักงาน กสทช. และพระราชกำหนดดังกล่าว สำนักงาน กสทช. อาจใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายกับผู้ให้บริการที่กระทำความผิด และ/หรือนำส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
- มาตรการระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการลงทะเบียนด้วยชื่อของบุคคลต้องสงสัย
ตามที่ศูนย์ AOC 1441 หรือ ศปอท. ได้รับแจ้ง/ร้องเรียนทางโทรศัพท์จากผู้เสียหายว่ามีการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เดือนมกราคม – เมษายน 2568 ได้มีการบันทึกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพ (ตัดหมายเลขซ้ำออก) ที่มี Bank Case ID จำนวน 7,173 เลขหมาย และยังไม่มี Bank Case ID จำนวน 425 เลขหมาย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิจฉาชีพใช้เบอร์หรือเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าวในการติดต่อผู้เสียหายรายอื่น ๆ โดยการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์การระงับเลขหมายโทรศัพท์ที่มีการลงทะเบียนด้วยชื่อของบุคคลต้องสงสัย ซึ่ง AOC 1441 หรือ ศปอท. จะแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ ข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคม ให้สำนักงาน กสทช. (ตามมาตรา 8/5 (7)) แล้วให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามมาตรา 5 วรรคสอง โดยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ระงับการให้บริการโทรคมนาคมของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้น รวมถึงเบอร์โทรศัพท์หมายเลขอื่นของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นทั้งหมดในทุกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์
6.การเร่งรัดบูรณาการข้อมูลหน่วยงานร่วมกันเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
มอบหมายให้ ศปอท. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปง. กสทช. ก.ล.ต. ธ.ป.ท. สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ ในเรื่องขั้นตอนการจัดการบัญชีม้าและการใช้อำนาจตามมาตรา 4/1 การดำเนินการตามเหตุอันควรสงสัย ขั้นตอนการทำงานรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบติดตามของ ศปอท. รวมทั้งเรื่องการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพระราชกำหนดฯ ในขั้นตอนปฏิบัติ (SOP) และระยะเวลาการดำเนินการ (SLA)
7.มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้าคริปโท
ในเดือน มิถุนายน 2568 ก.ล.ต. และ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) จะหารือร่วมกับ ปปง.ในการออกแนวทางปฏิบัติการใช้ข้อมูลบัญชีม้า HR-03 และแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมฐานข้อมูล HR-03 กับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล (DA) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการฯ ระงับการเปิดบัญชี/ให้บริการกับบัญชีม้า รวมทั้งการหารือร่วมกันกับกระทรวงดีอี ในขั้นตอนการส่งรายชื่อแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต
“ในวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม 2568 พ.ร.ก.ฯ ทั้ง 2 ฉบับจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อพิจารณา เห็นชอบ โดยในขณะนี้ คณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดการดำเนินการกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.กทั้ง 2 ฉบับ ในการดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดีย หลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหาย” รองนายกประเสริฐ กล่าว
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com