
“ชนัตถ์และลูก” แจงยิบเหตุโหวตคว่ำงบ-กรรมการ “ดุสิตธานี” หลังขาดทุนอ่วม 5 ปีซ้อน
"ชนัตถ์และลูก" ผู้ถือหุ้นใหญ่ DUSIT แจงเหตุลงมติไม่รับงบการเงิน และไม่สนับสนุนกรรมการบริษัทเดิม 4 คน เป็นการใช้สิทธิ์โดยชอบธรรมตามกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทขาดทุน 5 ปีซ้อน หวังเห็นการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่บริษัทลงมติไม่เห็นด้วยกับงบการเงินและไม่อนุมัติให้กรรมการที่พ้นวาระทั้ง 4 คนกลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง หลังจากมีข่าวว่าเป็นเพราะความขัดแย้งภายในกลุ่มทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี
บริษัทชนัตถ์และลูกระบุว่า การลงมติไม่อนุมัติงบการเงินเป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมาย โดยก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 25 เมษายน 2568 ทางบริษัทได้ส่งคำถามล่วงหน้าเกี่ยวกับงบการเงินประจำปี 2567 และส่งคำถามอีกครั้งในวันประชุม แต่คณะกรรมการบริษัทดุสิตธานีไม่ได้ตอบคำถามให้กระจ่างชัด ทั้งที่เป็นคำถามสำคัญเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน เงินลงทุน และเงินให้กู้แก่บริษัทย่อย
บริษัทชนัตถ์และลูกชี้แจงว่า งบการเงินของดุสิตธานีมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมากว่า 5 ปี จนมียอดขาดทุนสะสมสูงถึง 1,254 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าทุนจดทะเบียนบริษัทที่มีเพียง 850 ล้านบาท จึงทำให้บริษัทชนัตถ์และลูกซึ่งเคยได้รับเงินปันผลปีละกว่า 80 ล้านบาท ไม่ได้รับเงินปันผลเลยมากว่า 5 ปี
ทางบริษัทยืนยันว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะทำร้ายหรือทำลายบริษัทดุสิตธานี เพราะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ถึงร้อยละ 49.74 การทำให้ดุสิตธานีเสียหายเท่ากับเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง อีกทั้งโรงแรมดุสิตธานีเป็นกิจการของครอบครัวที่จัดตั้งโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ซึ่งอยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 50 ปี และเป็นแบรนด์โรงแรมของคนไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก
สำหรับกรณีที่บริษัทลงมติไม่เห็นด้วยกับการให้เลือกตั้งกรรมการที่ออกตามวาระทั้ง 4 คนกลับเข้าดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่งนั้น บริษัทชี้แจงว่า แม้กรรมการทั้ง 4 คนจะมีความรู้ความสามารถ แต่ผลประกอบการที่ผ่านมาของดุสิตธานีกลับขาดทุนต่อเนื่อง กรรมการทั้ง 4 คนนี้ยังดำรงตำแหน่งมานานมากแล้ว บางคน 12 ปี บางคน 10 ปี จึงควรให้มีการเลือกตั้งบุคคลอื่นเข้ามาเป็นกรรมการชุดใหม่แทน เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทได้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถช่วยฟื้นฟูกิจการให้กลับมาทำกำไรได้
บริษัทชนัตถ์และลูกยังได้ชี้แจงเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยระบุว่าความขัดแย้งดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัทแล้ว เนื่องจากกลุ่มของนางสินี เธียรประสิทธิ์ และนางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หลังจากที่นายชนินทธ์ โทณวณิก ถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการบริษัทเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งรับจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568
ส่วนความขัดแย้งระหว่างทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เกี่ยวกับการแบ่งมรดกนั้น บริษัทระบุว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ทายาททั้งสามคนต้องไปว่ากล่าวกันเอง ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างนายชนินทธ์ โทณวณิก ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ หลังจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้พิพากษายกฟ้องคดีที่นายชนินทธ์ฟ้องนางสินีและนางสุนงค์ โดยอ้างว่าทั้งสองผิดสัญญาข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดก แต่ศาลวินิจฉัยว่ายังไม่มีข้อตกลงแบ่งทรัพย์มรดกตามที่นายชนินทธ์อ้าง
บริษัทชนัตถ์และลูกย้ำว่า การลงมติในการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทดุสิตธานีและผู้ถือหุ้นโดยรวม และเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทดุสิตธานีต้องขาดทุนต่อเนื่องต่อไปอีก