CGSI คงน้ำหนัก “Neutral” กลุ่มธนาคาร ชี้แนวโน้มสินเชื่อ Q2 โต

CGSI เผยผลสำรวจสินเชื่อไตรมาส 2/68 สะท้อนภาพธุรกิจขนาดใหญ่ยังต้องการสินเชื่อเพื่อขยายกิจการ ขณะที่ธนาคารเข้มเกณฑ์ปล่อยกู้กลุ่ม SME-รายย่อย พร้อมคงน้ำหนัก “Neutral” กลุ่มธนาคาร


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยบทวิเคราะห์ล่าสุด โดยอ้างอิงข้อมูลจากผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำไตรมาส 2/2568 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 โดยผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่า ความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในด้านการลงทุนระยะยาวและการรีไฟแนนซ์หนี้หรือหุ้นกู้ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME มีแนวโน้มลดความต้องการสินเชื่อ

ทั้งนี้ ในส่วนของลูกค้ารายย่อย ความต้องการสินเชื่อบ้านยังคงอยู่ในระดับสูงจากแรงหนุนของมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์ Loan-to-Value (LTV) ของธปท. และการลดค่าใช้จ่ายด้านโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองจากกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกัน สินเชื่อบัตรเครดิตมีแนวโน้มเติบโตตามพฤติกรรมการบริโภคในช่วงฤดูกาล ส่วนสินเชื่อรถยนต์กลับมีแนวโน้มลดลงตามการปรับตัวของราคารถมือสองในเดือนมีนาคม 2568

โดยธนาคารพาณิชย์ยังคงใช้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวดในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่, SME, สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจได้รับการผ่อนคลายจากมาตรการภาครัฐ จึงคาดว่าสถาบันการเงินจะมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่า และจะเลือกขยายพอร์ตสินเชื่อบ้านเฉพาะกลุ่มลูกค้าในตลาดระดับบนที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่ำกว่า

CGSI ระบุเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 1/2568 อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในหลายอุตสาหกรรมสำคัญของกลุ่มธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ขณะเดียวกันสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ยังคงมี NPL สูง ส่งสัญญาณถึงความไม่ทั่วถึงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ซึ่งยังมีอัตราส่วนสินเชื่อ Stage 2 (underperforming) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้น CGSI ยังคงคำแนะนำ “Neutral” สำหรับการลงทุนในกลุ่มธนาคาร โดยคาดว่ากำไรก่อนสำรอง (PPOP) จะเติบโตช้าในระดับ -6.0%, +3.3% และ +4.3% ในปี 2568, 2569 และ 2570 ตามลำดับ โดยให้ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกรุงไทย (KTB) เป็นหุ้นเด่นประจำกลุ่ม (Top Pick) เนื่องจากมีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่ระดับ 5.8-8.1% ต่อปี พร้อมด้วยคุณภาพสินทรัพย์และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารยังเผชิญความเสี่ยงด้านลบ (downside risk) หาก NPL เพิ่มขึ้นหรือหาก ธปท. มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ขณะที่ปัจจัยบวก (upside risk) จะมาจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ความผ่อนคลายของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

Back to top button