“สภา” ไฟเขียว! รับหลักการแก้กฎหมาย รฟม. เพิ่มอำนาจหารายได้-ปูทางตั๋ว 20 บาทตลอดสาย

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไฟเขียวรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ฉบับปรับปรุง หวังเพิ่มอำนาจหารายได้ ออกพันธบัตร หวังดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขณะที่ฝ่ายค้าน ชี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดึงเงินสะสม รฟม. มาอุ้ม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (28 พ.ค. 68) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี

โดยนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ชี้แจงหลักการและเหตุผล ระบุว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการเพิ่มขีดความสามารถให้ รฟม. ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้า บริหารจัดการตั๋วร่วม เพิ่มความสะดวกคล่องตัวให้ประชาชน และที่สำคัญคือการให้ รฟม. สามารถแสวงหารายได้จากทรัพย์สิน เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี การบริหารพื้นที่โฆษณา การให้เช่าพื้นที่ร้านค้า และบริการ Wi-Fi เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ นอกจากนี้ยังให้อำนาจ รฟม. ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นนอกเหนือจากการลงทุนได้ และปรับเปลี่ยนให้การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการต่างๆ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แทนการผ่าน ครม. เช่นเดิม

จากนั้น นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ใช้สิทธิ์อภิปรายอย่างเผ็ดร้อนว่า กฎหมายนี้เสนอขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการดึงเงินสะสมของ รฟม. ราว 1.6 หมื่นล้านบาท มาอุดหนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามที่รัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ พร้อมตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการดำเนินงาน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือการ “ล้วงกระเป๋า” รฟม. อย่างชัดเจน

นายสุรเชษฐ์ ยังย้ำถึงจุดยืนเดิมว่าโครงการ 20 บาทตลอดสายไม่สามารถทำได้จริง และรัฐบาลควรพิจารณาระบบค่าโดยสารที่ 8-45 บาท พร้อมทั้งแจกแจงเหตุผล 4 ข้อที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ ร่างกฎหมายเร่งรีบแซงคิวอย่างไม่เหมาะสม, เนื้อหาแตกต่างจากที่รับฟังความเห็น, ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาให้ รฟม. อย่างแท้จริง แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารัฐบาล และการลดภาระค่าเดินทางควรทำอย่างรอบคอบผ่านกลไกตั๋วร่วมที่คำนึงถึงผลระยะยาว โดยสรุปว่า พ.ร.บ. นี้จะทำให้นโยบาย 20 บาท อยู่ได้เพียง 2 ปี และทิ้งภาระหนี้สินให้ประชาชนในอนาคต

ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย แม้จะเห็นด้วยในหลักการ แต่กังวลว่านโยบายประชานิยมนี้จะสามารถทำได้นานเพียงใดโดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุน หรือหาวิธีอื่นนอกเหนือจากการใช้เงินกองทุน เนื่องจากปัจจุบัน รฟม. มีหนี้สินกว่า 6 แสนล้านบาท แต่กองทุนเงินเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท นายจุติตั้งคำถามว่าเป็นการนำเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาอุ้มคนกรุงเทพฯ หรือไม่ และแสดงความไม่สบายใจต่อการอนุญาตให้ รฟม. ออกพันธบัตรได้เอง เพราะห่วงผลกระทบต่อเครดิตและความน่าเชื่อถือทางการคลังของประเทศ

จากนั้นที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติกฎหมายนี้ ก่อนที่ประชุมจะมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 295 เสียง ไม่เห็นด้วย 144 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากผู้ลงมติทั้งหมด 442 เสียง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป

สำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน ประกอบด้วยสัดส่วน ครม. 6 คน และ สส. 19 คน จากพรรคต่างๆ ได้แก่ พรรคประชาชน 6 คน, พรรคเพื่อไทย 6 คน, พรรคภูมิใจไทย 3 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน, พรรคกล้าธรรม 1 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และพรรคพลังประชารัฐ 1 คน โดยพรรคกล้าธรรมได้เสนอชื่อนายกฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส. ชลบุรี ซึ่งเดิมสังกัดพรรคประชาชน แต่ปัจจุบันได้ประกาศร่วมงานกับพรรคกล้าธรรม เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคกล้าธรรมด้วย

Back to top button