กนง.จ่อหั่นดอกเบี้ย! ส่อง 5 กลุ่มหุ้นรับอานิสงส์ “เงินเฟ้อติดลบ-ยีลด์ร่วง” ดันตลาดคึกคัก

เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง-บอนด์ยีลด์ร่วง โบรกประเมินประชุม “กนง.” 25 มิ.ย.นี้ มีโอกาสลดดอกเบี้ยสูงถึง 90% ชู 5 กลุ่มหุ้นรับอานิสงส์เต็ม ชี้เป้าเช่าซื้อ–อสังหาฯ–นิคมฯเด่น


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจข้อมูลกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะประโยชน์แนวโน้มดอกเบี้ยขาลงมานำเสนอ โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ชั้นนำของไทย อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS โดยโบรกประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มสูงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 25 มิถุนายน 2568 นี้ หากตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ค.68 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% รวมทั้งการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร สะท้อนถึงความคาดหวังกนง.มีโอกาสสูงถึง 90% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

ล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ 100.40 หดตัวลง -0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธปท.อย่างชัดเจน โดยมีสาเหตุหลักจากราคาสินค้าอาหารสดและพลังงานที่ลดลงตามสภาพแวดล้อมของตลาดและปริมาณผลผลิต

ขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 101.47 หรือเพิ่มขึ้น 1.09% เมื่อเทียบ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อพื้นฐาน 5 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.95% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.48% สะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์จึงได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2568 ลงเหลือเพียง 0–1% จากเดิมที่ 0.3–1.3%

นอกจากนี้โบรกเกอร์ยังระบุอีกว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Thai Bond Yields) ปรับตัวลดลงในอัตราเร่ง โดยพันธบัตรอายุ 1 ปีและ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 1.51% ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลงถึง 7 จุดฐาน มาอยู่ที่ 1.67% บ่งชี้ถึงกระแสความคาดหวังจากตลาดที่มองว่าธปท.มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินในเร็ว ๆ นี้

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือน พ.ค.68 ที่ตลาดคาดจะหดตัวลงอยู่ที่ระดับ – 0.83% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงทำให้โดยรวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ BOT ที่ 1-3% และหากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นจาก 1.97% สู่ระดับ 2.58% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้นในอนาคต โดยฝ่ายวิจัยฯคาดว่าในปีนี้มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีส่วนหุ้น กลุ่มที่ได้ประโยชน์แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มเช่าซื้อ/สินเชื่อรายย่อย เน้นผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีต้นทุนทางการเงินสูง ซึ่งจะได้ประโยชน์ทันทีจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เช่น THANI, MTC, TIDLOR, SAWAD, ASK, AEONTS, BAM, JMT

2.กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ต้นทุนทางการเงินต่ำลงจะช่วยให้มาร์จิ้นดีขึ้น ขณะเดียวกันมีความยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ KKP, TISCO

3.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ดอกเบี้ยบ้านลดลง = ความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าเพิ่มขึ้น หนุนยอดโอนในช่วงครึ่งปีหลัง SPALI, LH, AP, ORI, QH, SIRI

4.กลุ่มปันผลสูง (High Dividend Yield) นักลงทุนจะหันกลับมาหา “หุ้นปันผล” เมื่อดอกเบี้ยในระบบต่ำลง INTUCH, ADVANC, SCC

5.กลุ่มที่มีภาระหนี้สูง (Net Debt สูง) การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีนัย ช่วยให้กำไรฟื้นตัวเร็ว BGRIM, GULF, MINT, CPALL, CRC, TRUE

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS วิเคราะห์ว่า ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2568 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Thai Bond Yields) ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 1 ปีและ 5 ปี อยู่ที่ 1.51% ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลง 7 จุดฐาน (bps) มาอยู่ที่ 1.67% .

การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสะท้อนถึงความคาดหวังของตลาดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มิถุนายนนี้ โดยมีโอกาสสูงถึง 90% ที่จะลดลงอีกราว 25 bps

โดยปัจจัยสนับสนุนการลดดอกเบี้ยความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ: การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนโยบายการค้าที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก

เงินเฟ้อในเอเชียอยู่ในระดับต่ำ: ต่างจากสหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อยังสูง เงินเฟ้อในหลายประเทศเอเชีย รวมถึงไทย อยู่ในระดับต่ำหรือใกล้เคียงเป้าหมายของธนาคารกลาง

การผ่อนคลายนโยบายของจีน: จีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภูมิภาค

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า: แม้จะพ้นวิกฤต COVID-19 แต่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ การลงทุนในโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New S-Curve) ยังต้องการแรงสนับสนุนเพิ่มเติม

KSS แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากอัตราอกเบี้ยที่ลดลง แบ่งออกเป็น 3 เฟส ได้แก่

เฟสที่ 1: หุ้นที่ได้ผลบวกโดยตรงจากดอกเบี้ยขาลง

-กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและไอที: บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE

-กลุ่มการเงินและลีสซิ่ง: บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD

-กลุ่มที่มีหนี้สูงแต่ฐานเงินสดแข็งแกร่ง: บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

เฟสที่ 2: หุ้นที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

-กลุ่มธนาคาร: KBANK, KTB, BBL

-กลุ่มผู้บริโภคและค้าปลีก: CPALL, บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT, BJC

-กลุ่มโลจิสติกส์: บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE

เฟสที่ 3: หุ้นที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนใหม่ (New CAPEX)

-กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน: บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON

-กลุ่มเทคโนโลยี: บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE

-กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์: บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC, บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP, บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL

Back to top button