
“พรอนงค์” ลั่น ก.ล.ต.หนุนเอกชนเป็น “ผู้ก่อการ” ชู 4 เสาหลักเชื่อมทุนสู่ชุมชนไทย
“พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต. เดินหน้าผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน ชูแนวคิด “4 เสาหลัก” วางรากฐานทุนทางสังคม-เศรษฐกิจ พร้อมหนุนภาคเอกชนต้องไม่เพียงเป็น “ผู้ประกอบการ” แต่ควรเป็น “ผู้ก่อการ” เพื่อยกระดับชุมชน เติบโตไปด้วยกันอย่างแท้จริง
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานเสวนา “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ปีที่ 2” (The 2nd Multilateral Collaboration for Sustainability: Continuing the Impact)ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จำเป็นต้องมีฐานรากที่แข็งแรง โดยเฉพาะในบริบทที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว และสังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางของชุมชน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน “การลงทุนที่มีคุณค่า” (meaningful investment) ซึ่งมิได้หมายถึงการลงทุนในมิติการเงินเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการลงทุนด้วย “เวลา ความรู้ และ ความร่วมมือ” เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดีสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นำเสนอแนวคิด “4 Pillars” หรือเสาหลัก 4 ด้านในการขับเคลื่อน ได้แก่
1.ชุมชน – ผู้เป็นฐานรากของสังคมที่ต้องได้รับการเสริมพลัง
2.ภาคเอกชน – พลังทางเศรษฐกิจที่สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
3.สถาบันสนับสนุน – หน่วยงานภาครัฐและตลาดทุนที่มีหน้าที่ส่งเสริมและกำกับ
4.ความร่วมมือ – กลไกเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
นางพรอนงค์ กล่าวอีกว่า “ทุนทางเศรษฐกิจ” และ “ทุนทางสังคม” ต้องเชื่อมโยงกันอย่างกลมกลืน หากภาคเศรษฐกิจโตแต่ชุมชนอ่อนแอ สังคมก็ไปไม่รอด ขณะเดียวกัน หากชุมชนเข้มแข็งแต่ไร้พลังทุนและโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ก็ไม่สามารถสร้างการเติบโตได้เช่นกัน
“ภาคธุรกิจในวันนี้ต้องไม่เพียงเป็น “ผู้ประกอบการ” แต่ควรเป็น “ผู้ก่อการ” ที่ใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อช่วยเหลือ พัฒนา และยกระดับชุมชน สร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุขร่วมกันในระยะยาว” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต. มีบทบาทเป็น “ผู้สนับสนุน” (Enabler) ที่เชื่อมโยงและส่งเสริมภาคธุรกิจให้ดำเนินงานตามหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) อย่างแท้จริง โดยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบการในตลาดทุน เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านระบบ One Report ตั้งแต่ปี 2565 และกำลังยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลต่อไป
นอกจากนั้นสำนักงานก.ล.ต. ยังเร่งผลักดันเครื่องมือระดมทุนใหม่ เช่น LifeX สำหรับธุรกิจนวัตกรรม, Crowdfunding Portal สำหรับวิสาหกิจชุมชนและ SE และตราสารหนี้ยั่งยืน (Sustainability Bonds) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแสดงจุดยืนด้าน ESG
“เราต้องการเห็นผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหม่ หรือผู้มีแนวคิดเพื่อสังคม สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เท่าเทียม ไม่ใช่มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น” นางพรอนงค์ กล่าว
เลขาธิการ ก.ล.ต. ยังกล่าวด้วยว่า บทบาทของหน่วยงานภาครัฐในวันนี้ไม่ใช่เพียงการออกกฎระเบียบ แต่ต้องเป็น “ผู้เร่งเครื่อง” ให้เกิดความร่วมมือ (collaborative platform) ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องและไม่เป็นเพียงกิจกรรมรายปี แต่กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
ทั้งนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต.ยังเสนอให้มีเวทีความร่วมมือแบบนี้บ่อยขึ้น เช่น จัดทุกไตรมาส หรือแม้แต่รายเดือน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และตัวอย่างความสำเร็จในการขับเคลื่อนความยั่งยืนร่วมกัน
“ตัวเลขหลักร้อย หลักพันล้าน ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของผลลัพธ์ เพราะถ้าทุนจำนวนนั้นนำไปสู่การสร้างชุมชนที่อยู่รอด อยู่ได้ และยืนหยัด นั่นแหละคือความยั่งยืนที่แท้จริง” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว