
“ทรีนีตี้” เปิดกลยุทธ์ Q3 แนะลงทุน Domestic Defensive รับมือภาษี 36% ชู ADVANC-GULF
“บล.ทรีนีตี้” เตือนนักลงทุนไตรมาส 3/68 เผชิญแรงกดดันหนักจากสงครามการค้าสหรัฐฯ และการเมืองในประเทศ ประเมิน SET มีแนวรับที่ 1,050 จุด ชู 4 หุ้นรับกระแสในประเทศช่วยลดความเสี่ยง พร้อมคาด GDP ปีนี้โตเพียง 2% ตอบรับภาษีนำเข้าสหรัฐ
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 3/2568 ว่า นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับ 2 ปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ “สงครามการค้า” ที่เกิดจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแนวโน้มเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 36% กับหลายประเทศ รวมถึงไทย และ “สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ” ที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2569
ขณะที่ล่าสุด สหรัฐฯ ขยายเส้นตายการตัดสินใจจากเดิมวันที่ 9 กรกฎาคม เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2568 และมีแนวโน้มเลื่อนออกไปอีกหากประเทศคู่ค้า รวมถึงไทย แสดงความตั้งใจในการเจรจา นักวิเคราะห์ย้ำว่าเป้าหมายของสหรัฐฯ คือการลดดุลการค้ากับประเทศที่เกินดุลอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศไทยเข้าข่ายดังกล่าวอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ บล.ทรีนีตี้ ประเมินแนวโน้ม SET Index ใน 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ กรณีเลวร้ายสุด (36%): SET อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 1,050 จุด , กรณีกลาง (20–36%): เคลื่อนไหวในช่วง 1,050–1,080 จุดและกรณีดีที่สุด (17–20%): อาจยืนเหนือระดับ 1,080–1,100 จุด
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ภาษีจะต่ำกว่า 17% ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Emerging Market ที่เกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างไทย
ทั้งนี้จากการประเมินทางสถิติ โดยอิงประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2568 ที่ 91 บาทต่อหุ้น และค่า P/E ในช่วงวิกฤต (COVID-19) ที่ราว 11.2 เท่า SET Index อาจลดลงต่ำสุดที่ประมาณ 1,020 จุด หากใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง (ค่า PE –1SD) ที่ 11 เท่า จะได้ระดับประมาณ 1,010 จุด ซึ่งสอดคล้องกัน และยังคง “แนวรับจิตวิทยา” ที่ 1,000 จุด ไว้อย่างมั่นคง เว้นแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเกินคาด
ด้านสถานการณ์การเมืองในประเทศ แม้รัฐบาลอยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำ แต่หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณสามารถเดินหน้าได้ตามกำหนด (วาระ 2-3 ในวันที่ 13–15 ส.ค.) ตลาดหุ้นยังมีโอกาสยืนเหนือระดับ 1,050 จุดได้ อย่างไรก็ตาม ยังมี 3 ความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ 1.พรรคร่วมถอนตัว 2.การยุบสภาก่อนพิจารณางบประมาณ และ 3.การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ (เช่น รัฐประหาร)
โดยหากเกิดขึ้นจริง อาจเป็นปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนี SET หลุด 1,050 จุดได้ แต่ยังมีแนวโน้มสูงที่ดัชนีจะไม่ต่ำกว่า 1,000 จุด
ส่วนในเชิงเศรษฐกิจ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับประมาณการ GDP ปี 2568 เป็น 2.3% จากการส่งออกที่เร่งตัวในครึ่งปีแรก แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากอัตราภาษีศุลกากรถูกปรับขึ้นเป็น 20% เทียบเท่าเวียดนาม จะกดดันให้ GDP ทั้งปีเหลือเพียง 2.0% โดยเฉพาะหากการส่งออกสินค้าและบริการ (ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 4.2%) หดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้
สำหรับปี 2569 คาดว่า GDP ไทยอาจขยายตัวเพียง 1.7% จากแรงกดดันด้านการส่งออก และความจำเป็นในการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ “การบริโภคภาคเอกชน” และ “การลงทุนในประเทศ” จะเป็นตัวแปรสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลายหรือมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น อาจเกิด “Election Rally” ที่ช่วยหนุนการใช้จ่ายและความเชื่อมั่น
ส่วนในเชิงกลยุทธ์ บล.ทรีนีตี้แนะนำให้นักลงทุนกระจายพอร์ตไปยังกลุ่มหุ้นที่มีความทนทานต่อความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะกลุ่ม Domestic Defensive ที่มีฐานรายได้มั่นคง ความผันผวนต่ำ และได้ประโยชน์จากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่
1.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้นำกลุ่มสื่อสาร กระแสรายได้มั่นคง ชนะประมูลคลื่นความถี่ด้วยราคาต่ำ
2.บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและอัตราการใช้บริการสุขภาพ
3.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เด่นจากการบริโภคในประเทศที่ยังเติบโต
4.บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF โรงไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีโครงการลงทุนต่อเนื่องและรายได้ระยะยาวมั่นคง
ทั้งนี้ ประเมินว่าในกรณีฐาน (Base Case) SET Index อาจปรับตัวขึ้นแตะ 1,180 จุดในไตรมาส 3 หากสงครามการค้าไม่ทวีความรุนแรงและการเมืองไม่เกิดแรงสั่นสะเทือน ส่วนกรณีดีที่สุด (Best Case) หากอัตราดอกเบี้ยถูกปรับลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 1.25% และ Forward P/E ปรับเพิ่มเป็น 14 เท่า จะสามารถดันดัชนีขึ้นแตะระดับ 1,270 จุดได้
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 3 ต้องอาศัยความระมัดระวัง เน้นคุณภาพหุ้นที่มีความยืดหยุ่นสูงและหลีกเลี่ยงกลุ่มที่อ่อนไหวต่อความเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีฐานผลิตในไทย