
“ดีอี” เตือนภัยมิจฉาชีพอ้างเป็นโบรก “หลอกเทรดหุ้น” สูญเงินกว่า 11 ล้านบาท
กระทรวงดีอี ประกาศเตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นโบรกเกอร์ หลอกให้ลงทุนเทรดหุ้น สูญเสียเงินกว่า 11 ล้านบาท ย้ำ ‘ไม่กดลิงก์ - ไม่เชื่อ - ไม่รีบ - ไม่โอน’ ป้องกันภัยโจรออนไลน์
นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 30 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส รวมมูลค่าความเสียหายทั้ง 5 คดี ประมาณ 11,756,768 บาท
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 5,550,915 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาสอนลงทุนเทรดหุ้นผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook และเพิ่มเพื่อนผ่าน Line จากนั้นมิจฉาชีพสอนวิธีลงทุนเทรดหุ้นต่าง ๆ โดยมีผู้แอบอ้างเป็นเจ้าของโบรกเกอร์มาเป็นผู้แนะนำในการลงทุน
อีกทั้งต่อมาให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อลงทุนเทรดหุ้น ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ จึงโอนเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ มิจฉาชีพอ้างว่าจะต้องชำระค่านักวิเคราะห์และค่าภาษีก่อน เมื่อชำระยอดเงินแล้วพบว่าไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 2,270,736 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจอยากหารายได้พิเศษจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่าน Messenger Facebook และเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพชักชวนให้ทำการเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง Tiktok
โดยเลือกสินค้าที่สนใจเพื่อลงทุน แล้วจะได้รับค่าคอมมิชชันเป็นการตอบแทน ผู้เสียหายเริ่มลงทุนโอนเงินเข้าไปในระบบ ระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังมิจฉาชีพเริ่มให้ลงทุนมากขึ้น ผู้เสียหายต้องการขอยกเลิกและถอนเงินคืน มิจฉาชีพแจ้งว่าจะต้องชำระค่าภาษีก่อนเพื่อเป็นการออกจากระบบ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่น ๆ มูลค่าความเสียหาย 1,350,069 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่าผู้เสียหายได้รับค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าคืน จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line และให้สแกน QR Code และทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ เมื่อทำตามขั้นตอนเสร็จ ผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากธนาคารแจ้งว่ายอดเงินในบัญชีได้ถูกโอนออกไปจนหมด ผู้เสียหายพยายามติดต่อมิจฉาชีพแต่ไม่สามารถติดต่อได้
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 1,442,350 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายพบโฆษณาสินเชื่อกู้เงินผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดการสมัครขอสินเชื่อผ่าน Messenger Facebook และเพิ่มเพื่อนทาง Line มิจฉาชีพให้กรอกข้อมูลส่วนตัว จากนั้นแจ้งว่ากรอกข้อมูลผิดพลาดทำให้ระบบไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเงินกู้ได้ จะต้องโอนเงินเพื่อให้ระบบทำการแก้ไข
ทั้งนี้ เมื่อสินเชื่อได้รับการอนุมัติจึงจะได้รับเงินคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่าสินเชื่อได้รับการอนุมัติแล้ว ให้รอเงินโอนเข้าไปยังบัญชีธนาคาร ภายหลังผู้เสียหายไม่ได้รับเงินสินเชื่อและเงินที่โอนไปคืน จึงติดต่อกลับไปแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก จึงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ AOC 1441
คดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,142,698 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนหารายได้พิเศษ ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามผ่านทาง Messenger Facebook โดยมิจฉาชีพอ้างเป็นงานด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสื่อ Social media จากนั้นให้ทำแบบสอบถามความคิดเห็น ต่อมาถูกดึงเข้ากลุ่ม Line ให้ทำกิจกรรมให้ดาวน์สินค้าที่สนใจ เพื่อรับค่าคอมมิชชันเป็นการตอบแทน
อย่างไรก็ตามช่วงแรกทำแล้วได้รับเงินจริง มิจฉาชีพอ้างว่าหากจะร่วมกิจกรรมต่อต้องทำการโอนเงินเพื่อเข้าร่วม ผู้เสียหายจึงโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีมูลค่าสูงจึงอยากถอนเงิน แต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพอ้างว่าต้องชำระค่าภาษีก่อนจึงจะถอนเงินได้ หากไม่โอนค่าภาษีจะมีความผิดตามกฎหมาย ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้ 1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,878,283 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,069 สาย, 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 754,352 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,233 บัญชี, 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 280,096 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.56, (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 172,955 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 22.93, (3) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 109,071 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.46, (4) หลอกลวงลงทุน 104,615 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 13.87 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 53,729 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.12 (และคดีอื่น ๆ 75,866 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 10.06)
.“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้โฆษณาหลอกลวงผู้เสียหาย เพื่อให้ลงทุนเทรดหุ้น โดยแอบอ้างเป็น โบรกเกอร์สอนวิธีการเทรดหุ้นต่างๆ และหลอกลงทุนหารายได้พิเศษโดยชักชวนให้เปิดร้านค้าออนไลน์ เลือกสินค้าที่สนใจ รวมทั้งยังมีการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลอกผู้เสียหายได้รับค่าประกันมิเตอร์คืน ก่อนลวงให้ติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน ซึ่งพบว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 11 ล้านบาท ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขณะเดียวกันหากมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ ควรตรวจสอบให้แน่ชัด โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ จะไม่มีการติดต่อกับประชาชนโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้ติดตั้งแอปฯ ต่างๆ แต่อย่างใด ดังนั้นไม่ควรดาวน์โหลดแอปฯ หรือกดลิงก์ที่ไม่รู้ที่มาแน่ชัดอย่างเด็ดขาด” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
นางสาวงค์อะเคื้อ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พี่น้องประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1.ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใด ๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง