
SCBEIC ชู KTIS-KSL เด่น รับอุตสาหกรรม “น้ำตาล” ปี 68 โต อานิสงส์ “อ้อยเพิ่ม-ส่งออกพุ่ง”
SCB EIC คาดอุตสาหกรรมน้ำตาลปี 2568 ขยายตัวต่อเนื่องจากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น เหตุดีมานด์โลกชะลอจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกผันผวน แนะจับตา 2 หุ้นเด่น KTIS-KSL
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในปี 2568 จะยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญแรงกดดันจากราคาส่งออกที่ลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ได้รับแรงหนุนสำคัญจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลในปีการผลิต 2567/2568 เพิ่มขึ้นถึง 14.4% อยู่ที่ 10.1 ล้านตัน จากอ้อยเข้าหีบ 92.0 ล้านตัน
โดยราคาส่งออกน้ำตาลเฉลี่ยในปี 2568 คาดว่าจะลดลง 11.2% เหลือ 513.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามทิศทางราคาน้ำตาลทรายดิบรวมพรีเมียมที่ปรับตัวลดลง 15.9% มาอยู่ที่ 19.9 เซนต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้แม้ราคาจะอ่อนตัว แต่มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้นได้ถึง 34.3% จากปริมาณการส่งออกที่คาดว่าจะพุ่ง 51.2% อยู่ที่ 6.2 ล้านตัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ไทยส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น 27.5% แม้ราคาลดลง 16.7% แต่ทำให้มูลค่าการส่งออกเติบโต 6.3% สะท้อนภาพการชดเชยด้านปริมาณที่แข็งแกร่ง
ช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี คาดว่ามูลค่าส่งออกจะเร่งตัวขึ้นอีก จากน้ำตาลในประเทศที่ยังเหลือรอการส่งออกกว่า 4.6 ล้านตัน รวมถึงการปรับเพิ่มสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่มีราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งจะช่วยประคองราคาส่งออกเฉลี่ยให้ลดลงน้อยกว่าครึ่งปีแรก ขณะที่มูลค่าตลาดบริโภคน้ำตาลในประเทศปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 56,000 ล้านบาท เติบโต 1.3% จากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมน้ำตาลยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกดดันดีมานด์บริโภคน้ำตาลโลก ความแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้งในประเทศผู้ผลิตหลัก และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและน้ำตาลโลก เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ขณะที่ระยะยาวอุตสาหกรรมยังต้องปรับตัวต่อเทรนด์เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ความยั่งยืน (Sustainability) และกระแสรักสุขภาพ โดย SCB EIC เตือนว่าต้นทุนของโรงงานอาจเพิ่มขึ้นจากภาษีคาร์บอนและมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันผู้บริโภคอาจหันไปบริโภคน้ำตาลน้อยลง ทำให้ดีมานด์ชะลอตัวในบางตลาด
สำหรับการแข่งขันภายในประเทศ แม้จะยังเน้นหนักไปที่การจัดหาอ้อยเป็นหลัก แต่ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดการแข่งขัน ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนกำไรของโรงงาน โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา กำไรของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ลดลง 40.6% จากปีก่อน เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงและต้นทุนจัดหาอ้อยสูง แต่แนวโน้มปี 2568 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวตามภาวะอุปทานที่ดีขึ้น
โครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีลักษณะกึ่งผูกขาด โดยกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ 5 รายครองส่วนแบ่งตลาดรวมกว่า 54% ได้แก่ กลุ่มมิตรผล (23.9%), ไทยรุ่งเรือง (9.1%), โคราช (8.9%), ท่ามะกา-KSL (6.4%) และไทยเอกลักษณ์-KTIS (5.8%) ขณะที่น้ำตาลครบุรี (KBS) และน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) มีส่วนแบ่งตลาด 4.6% และ 3.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของภาครัฐ ผ่าน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีการควบคุมปริมาณโรงงาน ระบบกำหนดราคาหน้าโรงงาน และสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างชาวไร่และโรงงาน
ทั้งนี้ แนวทางการแข่งขันที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการในอนาคตจะพึ่งพาการพัฒนาแบรนด์ การยกระดับคุณภาพสินค้า การพัฒนาน้ำตาลทางเลือก เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ และการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG โดยกลุ่มที่สามารถสร้างสัมพันธ์กับเกษตรกร มีประสิทธิภาพการผลิตสูง และปรับตัวตามเทรนด์สุขภาพได้ดี จะเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบในระยะยาว