“ดีบีเอส” ชี้ SET สิ้นปีแตะ 1,300 จุด แนะเก็บหุ้น “รพ.-ค้าปลีก-โทรคมนาคม”

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มอง SET ครึ่งปีหลังยังผันผวนจากสงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกชะลอ คาดสิ้นปีแตะ 1,300 จุด แนะลงทุนกลุ่มปลอดภัย อย่างโรงพยาบาล–ค้าปลีกใหญ่–โทรคมนาคม


นางสาวจันทร์เพ็ญ ศิริธนารัตนกุล กรรมการบริหารอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวในงาน DBS 3Q25 CIO Market Outlook ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยครึ่งหลังปี 2568 ยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง จากสงครามการค้า อีกทั้งจากเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงมีมุมมองว่ามีโอกาสลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทไทยยังคงมีความแข็งค่าต่อเนื่อง ส่วนการเจรจาภาษีไทยและสหรัฐ ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงยื่นข้อเสนอ ซึ่งอยู่ในกรอบการเจรจาคาดการณ์ภาษีจะอยู่ประมาณราว 20%

ขณะเดียวกัน ปัจจัยการเมืองภายในประเทศยังคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยหากสถานการณ์ไม่รุนแรงเกินไป คาดว่า GDP เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ที่ระดับ 1.8% แต่ในกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนสูง GDP ไทยอาจเหลือเพียง 1%

โดยคาดการณ์ดัชนี SET สิ้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,300 จุด สำหรับกลุ่มแนะนำลงทุนที่ปลอดภัยหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กลุ่มโทรคมนาคม ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ในส่วนของกลุ่มพาณิชย์ (Commerce) โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค แม้จะมีผลกระทบบ้าง แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ

ด้าน นายเอ็ดวิน ตัน (Mr. Edwin Tan) Market Head DBS, Thailand & Philippines, DBS Bank ว่า ก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2025 เรากำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดโลก และนั่นคือเหตุผลที่เราตั้งธีมของวันนี้ว่า “The Global Pivot” เพราะตลาดหุ้นทั่วโลกสามารถฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น ท่ามกลางสภาวะที่ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี, สัญญาณเศรษฐกิจที่สับสนจากการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของประธานาธิบดีทรัมป์, และความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาทางการคลังของสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน นายเวย์ ฟุก โหว (Mr. Wey Fook Hou) Chief Investment Office, DBS Bank กล่าวว่า นโยบายในช่วง 100 วันแรกของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วโลก ตั้งแต่การลดงบประมาณของกระทรวงพลังงาน (DOGE) อย่างรุนแรง ไปจนถึงการจุดชนวนสงครามภาษีในระดับโลก แม้แนวทางดังกล่าวจะช่วยวางตำแหน่งใหม่ให้กับสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ แต่ความไม่ชัดเจนด้านนโยบายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดัน risk premium ของสินทรัพย์การเงินสหรัฐฯ ให้เพิ่มสูงขึ้นการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ล่าสุด ยิ่งทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องความยั่งยืนทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ

คงน้ำหนัก “Neutral” ในตลาดหุ้น โดยคาดว่าผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค และกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มบริการมีแนวโน้มเติบโตดีกว่ากลุ่มที่เน้นสินค้า

ยังคงมุมมองเชิงบวกอย่างมากต่อหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ จากแนวโน้มการเติบโตของ AI ที่ยังคงต่อเนื่อง ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า เราแนะนําให้น้ำหนัก “Overweight” ในหุ้นยุโรปและเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จากแรงสนับสนุนของนโยบายการคลัง อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่จูงใจ และมูลค่าที่ซื้อขายด้วยส่วนลดเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว

เรายังคงให้น้ำหนักตราสารหนี้มากกว่าตราสารทุน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง ทั้งด้านเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของการเติบโต (stagflation)

สำหรับหุ้น คงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้น้ำหนัก “Overweight” ต่อหุ้นยุโรป ท่ามกลาง ความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษี การจัดสรรการลงทุนตามประเทศ ยังคงขึ้นอยู่กับผลของการ เจรจา ข้อตกลงการค้า ช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจมีผลลัพธ์สองทางอย่างชัดเจน เราคงสมมติฐานฐานว่า สหรัฐฯ จะเลือกแนวทางที่เป็น กลางและลดความตึงเครียดกับทั้งจีน และยุโรป ภายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เรายังคงน้ำหนัก “Underweight” เล็กน้อยในหุ้นสหรัฐฯ

ส่วนตราสารหนี้ ใช้กลยุทธ์ “Duration Barbell” ท่ามกลางความกังวลด้านการคลัง และเงินเฟ้อ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นความยั่งยืนทางการคลังหลังอัตราผลตอบแทน พันธบัตร ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทาน โดยอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และญี่ปุ่น (JGBs) อายุยาวที่ปรับตัวพุ่งขึ้น

Back to top button