
PTG ผนึกเตรียมอุดมฯ เปิดศูนย์ TU Co-Learning Space ปั้นทักษะสู่โลกทำงาน
PTG จับมือ “เตรียมอุดมศึกษา” จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ TU Co-Learning Space by PTG เปิดพื้นที่การศึกษานอกตำราสู่โลกแห่งการทำงานจริง
ดร.บุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดเผยว่า “ศูนย์การเรียนรู้ ‘TU Co-Learning Space by PTG’ เป็นพื้นที่เรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนในโรงเรียนกับโลกการทำงานจริง นักเรียนจะได้ฝึกคิด ฝึกทำ ได้พบกับผู้เชี่ยวชาญ และสถานการณ์จริง เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต เช่น การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม
พร้อมทั้งได้รับความรู้และแรงบันดาลใจจากบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย สะอาด สวยงาม และปลอดภัย เอื้อต่อการทำกิจกรรมและช่วยให้การเรียนรู้น่าสนใจยิ่งขึ้น โครงการนี้จะช่วยให้นักเรียนคิดเป็น กล้าทดลอง กล้าผิดพลาด และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง คุณครูมีเครื่องมือใหม่ในการสอน ผู้ปกครองเห็นพัฒนาการของลูก และนักเรียนจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้
ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ PTG ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก ๆ เตรียมอุดมศึกษา ครูทุกท่านที่พร้อมจะเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับนักเรียน ผู้ปกครองที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ และนักเรียนทุกคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโครงการนี้ วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เรากำลังร่วมกันสร้างอนาคตที่สดใสให้กับการศึกษาไทยต่อไป”
ด้าน นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า “การสร้างโอกาสและการพัฒนาคนคุณภาพเพื่อส่งผลเชิงบวกต่อสังคม คือหัวใจสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ PTG ที่มุ่งมั่นให้ทุกคนในสังคมได้เข้าถึงชีวิตที่ ‘อยู่ดี มีสุข’ ผ่านโครงการหลากหลาย อาทิ ‘พีที ค่ายอาสา ทำจริงไม่ทิ้งกัน’ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการศึกษาในหลายพื้นที่
ตลอดจนความร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสนับสนุนพื้นที่ CBS Lounge ศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจแบบบูรณาการเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการดำเนินธุรกิจ ผ่านการฝึกปฏิบัติงานจริงและพัฒนาทักษะการบริหารจัดการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่โลกการทำงานจริง”
“สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ขยายโลกทัศน์ของนักเรียนไทย เปิดโอกาสให้เรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างความรู้ทางวิชาการและทักษะชีวิต ด้วยพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะอย่างครบถ้วน ทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ ส่งเสริมให้นักเรียนได้ค้นหาความชอบ ค้นพบความถนัด พร้อมเสริมศักยภาพสำหรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างมั่นใจในการก้าวสู่บทบาทผู้บริหารหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอนาคต”
อีกทั้ง ภายในงานยังมีกิจกรรม Mini Talk ในหัวข้อ “Beyond Classroom – เมื่อการเรียนไม่ใช่แค่เพื่อสอบ” จาก นายปรเมษฐ์ สงวนโชควณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และบริหารการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ PTG ศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 63 มาร่วมเปิดมุมมองการเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ “การได้เรียนรู้และทดลองประสบการณ์ที่หลากหลาย จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร การลงมือปฏิบัติในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง มีส่วนช่วยให้เราค้นพบเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเอง เหมือนอยู่ใน Small Village ที่ทุกคนในโลกเชื่อมโยงกัน เช่นเดียวกับ Co-Learning Space แห่งนี้ ที่มีจุดเริ่มต้นจากโมเดลการเรียนรู้ 70:20:10
โดย 10% เกิดจากทฤษฎีหรือห้องเรียน 20% มาจากการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น และ 70% มาจากประสบการณ์จริง ดังนั้นเราจึงร่วมกันออกแบบสภาพแวดล้อมให้สวยงาม ปลอดภัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน
รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลางสามารถแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ทิศทางหลักๆ คือ ทาง PTG เป็นผู้ดูแล เช่น การจัด Restaurant Tour มี Open House เปิดบ้านให้น้อง ๆ ได้ทดลองบริหารจัดการธุรกิจในแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟพันธุ์ไทย คอฟฟี่เวิลด์ ซับเวย์ และพลีส โยเกิร์ต หรือหากคุณครูต้องการจัด Workshop ให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะใดเพิ่มเติม PTG ก็ยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ หรือในส่วนของน้อง ๆ เอง ต้องการติวเตอร์ช่วงสอบ หรือสนใจผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการใด ๆ PTG ก็พร้อมสนับสนุนให้ได้เช่นกัน”
“เพราะเราอยากให้พื้นที่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จริง ได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เรียนรู้การแก้ปัญหา พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด อยากให้น้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงประสบการณ์ เมื่อถึงเวลาต้องเผชิญสถานการณ์จริง จะสามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และสิ่งสำคัญคือต้องมีทักษะการเป็นนักเรียนไปตลอดชีวิต ตั้งคำถามให้เยอะ หาคำตอบให้ได้ มองระบบให้ออก มองโลกให้ลึก เพราะคนที่ไม่หยุดเรียนรู้จะเติบโตและประสบความสำเร็จในโลกแห่งการทำงานจริงได้อย่างแข็งแรง”
ด้าน น้องโอม – นายภารินทร์ ศรีประทีปกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ร่วมแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนว่า “ผมมีโอกาสได้รับมอบหมายให้นำสินค้าไปขายในโรงอาหาร เพื่อหารายได้ไปจัดกิจกรรมงานวันเกิดของโรงเรียน กิจกรรมนี้ไม่ได้เป็นแค่การขายของ แต่เป็นห้องเรียนชีวิตที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่าง ทั้งด้านการตลาด ได้ลองโปรโมทสินค้าผ่านโปสเตอร์ในโรงเรียนและโพสต์ลง Social Media เพื่อให้คนรู้จักและเพิ่มยอดขาย มีการคำนวณต้นทุน ลองตั้งราคาที่มีมาร์จิ้นพอจะได้กำไรไปจัดกิจกรรม แต่ก็ต้องไม่สูงเกินกว่าที่เพื่อน ๆ จะซื้อได้
ทั้งนี้จึงมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นความสนใจของลูกค้า มีการทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่ชัดเจน แต่ก็พร้อมช่วยเหลือกัน จึงได้เรียนรู้ว่าการสื่อสารนั้นสำคัญมาก
นอกจากนี้ยังได้ฝึกทักษะการบริหาร การวางแผน การตั้งเป้ายอดขายแต่ละวัน การรวบรวมเงินมาคำนวณรายรับรายจ่าย ทำให้ได้เรียนรู้การจัดการมากขึ้น ในอนาคตผมมีความตั้งใจจะเปิดร้านอาหารของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าอาหารบางร้านอร่อย ราคาก็คุ้มค่า แต่กลับไม่ค่อยมีคนรู้จัก เพราะอาจยังขาดเรื่องการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญผมมีเพื่อนที่บ้านทำร้านอาหารอยู่หลายคน ทำให้ผมคิดว่าน่าจะใช้ Connection ตรงนี้ไปขอคำปรึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้”
อีกทั้ง น้องนุ๊กนิ๊ก – นางสาวระวิพัชร์ แสงวันดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ร่วมแชร์หลักสูตรวิชาในฝันและความตั้งใจในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมว่า “หนูมองว่า การเงิน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ในปัจจุบันยังแทบไม่มีวิชาลักษณะนี้สอนในโรงเรียนมากเท่าที่ควร หลายคนต้องเจอกับปัญหาการเงินโดยไร้เข็มทิศ ไม่มีผู้แนะนำหรือวางแผนอนาคต ได้แต่ลองผิดลองถูก เพราะแบบนี้เองหนูจึงอยากให้มีวิชา การเงินในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยให้พวกเราเรียนรู้การวางแผนการใช้จ่าย การออม
รวมถึงการบริหารจัดการในชีวิตจริง อีกวิชาที่หนูอยากให้มีคือ วิชาธุรกิจปฏิบัติจริง วิชานี้เหมาะกับคนที่มีฝันอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง เปิดโอกาสให้เราคิดวางแผน ลงมือทำธุรกิจจริง เห็นทั้งความสำเร็จ และบทเรียนจากความผิดพลาด ได้ฝึกตัดสินใจ ได้สื่อสารจริงจัง และที่สำคัญยังได้ไปปรึกษาครูผู้สอน เพื่อนำประสบการณ์ทั้งหมดไปพัฒนาต่อเมื่อเราโตขึ้น
สำหรับความฝันที่ยิ่งใหญ่ของหนูคือการเปิด มูลนิธิการศึกษา เพราะยังมีอีกหลายคนที่ยังขาดโอกาสตรงนี้ ถ้ามีโอกาสหนูอยากนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ ไปช่วยคนที่ขาดแคลน หนูเชื่อว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และช่วยขยายโอกาสในการเลือกทางเดินและกำหนดอนาคตของตัวเองได้”