PSG ปรับทัพธุรกิจ! สยายปีก “พลังงาน-เหมืองแร่” ปักธงผู้นำภูมิภาค ตั้งเป้ารายได้ 3 หมื่นล.

PSG เร่งปักหมุดยุทธศาสตร์ใหม่สู่ธุรกิจพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในลาว หลังปิดดีล 2 โครงการโครงสร้างพื้นฐานกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท พร้อมลุยเหมืองและระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตั้งเป้าขยายรายได้แตะ 3 หมื่นล้านบาทใน 10 ปี


นายเดวิด แวนดาว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PSG เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจในอนาคตว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์จากการรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก สู่การพัฒนาและบริหารโครงการใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน (Construction & Engineering) พลังงาน (Energy) และทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource) โดยเน้นการขยายธุรกิจใน สปป.ลาว ซึ่งมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางพลังงานและเหมืองแร่ในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบัน PSG มีรายได้หลักจาก 2 โครงการใหญ่ในลาวที่กำลังก่อสร้าง ได้แก่

1.โครงการขยายกำลังการผลิตเหมือง XPPL  Phase 1 โครงการประกอบด้วยงานก่อสร้างถนน อาคารคลังสินค้า แคมป์ถาวร และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหมืองในพื้นที่ลาวใต้ มูลค่าโครงการ 239.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือเทียบเท่า 8,082.23 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ชนะการประมูล) ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 มีความคืบหน้างาน 81% และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.ปี 2569

2.โครงการก่อสร้างพื้นที่พัฒนาเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่ Resettlement Development งานก่อสร้างเพื่อพัฒนาชุมชนใหม่และโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ลาวเหนือ มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 มีความคืบหน้างาน 21% และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2570

นายเดวิด ระบุอีกว่า โครงการทั้งสองถือเป็นรากฐานสำคัญในการพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของบริษัท และได้ใช้ศักยภาพจากธุรกิจก่อสร้างต่อยอดสู่การบริหารจัดการโครงการพลังงานและทรัพยากร โดยเตรียมเริ่มรับรู้รายได้จาก 2 โครงการใหม่ในไตรมาส 4 ปีนี้ ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างอาคารประกอบอุปกรณ์สนับสนุนสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนเซกอง (XTPPL) ขนาด 1,800 เมกะวัตต์ งานโยธาและการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกะวัตต์ ในเมืองกะลึม แขวงเซกอง โครงการยังรวมถึงเหมืองแบบบูรณาการ และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ ความยาว 253 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากโรงไฟฟ้าไปยังชายแดนลาว–กัมพูชา ทั้งนี้ ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ Electricité du Cambodge (EDC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศกัมพูชา โดยมีกำหนดการก่อสร้างตั้งแต่ไตรมาส 4/2568 ถึงไตรมาส 1/2573

2.โครงการก่อสร้างระบบลำเลียงถ่านหินและเถ้าสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกะวัตต์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ XTPPL โดยทำหน้าที่ขนส่งเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าและบริหารการจัดการผลพลอยได้จากเถ้าถ่านที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า กำหนดระยะเวลาก่อสร้างปี 2568 – ไตรมาส 1/2570

นอกจากนี้ PSG ยังเข้าสู่ธุรกิจเหมืองแร่ โดยมีทีมปฏิบัติงานภาคสนามในเหมืองหิน XPL และเหมืองทองแห่งใหม่ในภาคกลางของลาว ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมบริหาร Value Chain ทั้งระบบ หากสำเร็จจะเป็นแหล่งรายได้ระยะยาว 15-35 ปี และมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท

สำหรับการเข้าสู่ธุรกิจพลังงานของ PSGC มุ่งเน้นใน 3 แนวทางยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1) ศึกษาความเป็นไปได้การปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydropower หรือ “PSH”)  และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Electricite du Laos (EDL) รัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภคของสปป.ลาว เพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเดิมของ EDL และบริษัทในเครือให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำอื่นๆ ที่ EDL อาจถือครองในอนาคต พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการผนวกแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบโดยรวม

2) ศึกษาการผลิตพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) ที่รวมการผลิตไฟฟ้าจากระบบ PSH เข้ากับพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ ผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นบนพื้นที่ขนาด 7,000 เฮกตาร์ในแขวงอัตตะปือ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มขนาด 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานสูบน้ำให้กับระบบ PSH ได้

3) แสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ และตลาดจำหน่ายไฟฟ้า บริษัทฯได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานพลังงานระดับภูมิภาค เพื่อศึกษาการส่งออกพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาวไปยังประเทศกัมพูชา สิงคโปร์และจีน

ด้านนางสาวสมฤดี ห์ลีละเมียร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน กล่าวถึงการปรับโครงสร้างทุนว่า บริษัทได้ดำเนินการรวมพาร์จาก 1 บาทเป็น 4 บาท เพื่อลดจำนวนหุ้น และอยู่ระหว่างกระบวนการลดทุนทางบัญชี โดยไม่มีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าทำการปรับลดอีก 2 รอบเพื่อทำให้โครงสร้างทุนมีความชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับนักลงทุน

สำหรับเป้าหมายระยะยาว บริษัทวางแผนขยายรายได้จากระดับ 3,000 ล้านบาทในปัจจุบัน สู่ระดับ 20,000-30,000 ล้านบาทภายใน 10 ปี โดยรายได้หลักในอนาคตจะมาจากธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของรายได้ทั้งหมด พร้อมขยายการมีส่วนร่วมในภูมิภาค 6 ประเทศ ผ่านการส่งออกพลังงานจากลาวไปยังเวียดนาม กัมพูชา และประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ บริษัทเน้นแนวคิด ESG โดยใช้มาตรฐานในการพัฒนาโครงการมากกว่าการใช้เป็นตัวกำหนดการคัดเลือก เพื่อสร้างโครงการที่มีทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนในระยะยาว

นายเดวิด กล่าวอีกว่า ด้านเงินลงทุนในปี 2568 ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก โดยอยู่ที่ประมาณ 300–400 ล้านบาท เพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้และการจัดเตรียมบุคลากร แต่ในปี 2569 จะมีการประเมินเพิ่มเติมตามผลของการเจรจาและการสรุปสัญญาโครงการ

โดยมองว่าประเทศลาวเป็นฐานปฏิบัติการหลัก โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านธรรมาภิบาลและการระดมทุน ทั้งนี้ โครงการที่พัฒนาขึ้นในลาวจะมีการส่งออกพลังงานและแร่ธาตุไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีแผนขยายโครงการใหม่ในประเทศเหล่านั้นโดยตรง

ด้านมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจ PSG ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน แต่ธุรกิจของบริษัทอยู่ในกลุ่มสัมปทานและสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เช่น พลังงาน ถ่านหิน และแร่ธาตุ ซึ่งยังคงมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้จะผันผวนตามวัฏจักรราคา

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน บริษัทมีแผนสื่อสารข้อมูลเชิงกลยุทธ์ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว รวมถึงวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ให้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งเดินหน้าปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยเฉพาะแผนการรวมพาร์และลดทุน เพื่อให้สถานะทางการเงินอยู่ในระดับที่นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ได้ง่าย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2569 อย่างช้าภายในสิ้นปีหน้า.

Back to top button