
“สบน.” ลุยออก G-Token พันธบัตรดิจิทัลรุ่นแรก วงเงิน 5 พันล้าน ขายปลายเดือน ส.ค.
สบน. เตรียมออก “G-Token” พันธบัตรดิจิทัลรุ่นแรกภาครัฐ วงเงิน 5,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 3 ปี ซื้อผ่านโบรกเกอร์-ICO Portal เปิดขายปลายเดือน ส.ค.นี้ ชูดอกเบี้ยจูงใจ-เสี่ยงต่ำ-เข้าถึงง่าย ย้ำไม่ใช่คริปโต-ใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่ได้
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยความคืบหน้าการออกพันธบัตรรัฐบาลดิจิทัล หรือ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการออม” (Government Token – G-Token) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดร่วมกับตัวกลางที่เกี่ยวข้องตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2568 โดยคาดว่าจะสามารถแต่งตั้งผู้บริหารจัดการได้ภายในเดือนกรกฎาคม และใช้เวลาเตรียมระบบประมาณ 30-45 วัน ก่อนจะเริ่มจำหน่ายได้ภายในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2568
โดย G-Token จะมีวงเงินเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท อายุการถือครองไม่เกิน 3 ปี ให้ผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าพันธบัตรออมทรัพย์ ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนได้ เนื่องจากต้องพิจารณาตามภาวะตลาด ณ ขณะนั้น โดยสามารถซื้อขายในตลาดรองได้ และจะจำหน่ายผ่านช่องทางของบริษัทหลักทรัพย์ 16 แห่ง และ ICO Portal อีก 5-6 แห่ง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงของประชาชน
นายพชร ย้ำว่า G-Token ไม่ใช่เงินดิจิทัลใหม่ หรือสื่อกลางในการชำระเงินตามนิยามของ พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการใช้จ่ายหรือชำระหนี้แต่เป็นสัญลักษณ์ของการลงทุน ที่ออกโดยภาครัฐและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องยื่น Filing แบบเอกชน แต่จะมีการจัดทำเอกสารชี้ชวน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเงื่อนไขการลงทุนอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ สบน. ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างต่อเนื่อง แม้ G-Token จะไม่อยู่ในขอบเขตตาม พ.ร.บ. เงินตรา โดย ธปท. เคยมีข้อกังวลตั้งแต่ต้นว่าอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ยืนยันว่าไม่สามารถใช้ซื้อสินค้า หรือชำระหนี้ได้
“โครงการนี้พัฒนาอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และความปลอดภัย ถือเป็นนวัตกรรมการระดมทุนของภาครัฐที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ เข้าถึงสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำได้ง่ายขึ้น และคุ้นชินกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล” นายพชรกล่าว
ในส่วนของการระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงินรวม 865,000 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 75% โดยยังไม่รวมการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 200,000 ล้านบาท จะดำเนินการผ่านการกู้เงินจากสถาบันการเงิน พันธบัตรระยะยาว ตั๋วแลกเงิน (P/N) และตั๋วเงินคลัง ซึ่งคาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณจะมียอดการกู้เต็มวงเงินอยู่ที่ประมาณ 450,000 ล้านบาท
สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ แม้จะได้รับแรงกดดันจากทิศทางนโยบายภาษีของสหรัฐฯ แต่การเปิดประมูลตราสารทางการเงินล่าสุดยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากสถาบันการเงิน กองทุนขนาดใหญ่ และนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนความเชื่อมั่นในฐานะการเงินของไทย