SONP วอนสื่อยึดจริยธรรม รายงานข่าวชายแดนไทย–กัมพูชา

“สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์” ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชนสมาชิก ยึดแนวปฏิบัติข่าวสงครามของสภาการสื่อมวลชนฯ พร้อมกำชับใช้ AI อย่างมีจริยธรรม หวั่นข่าวผิดพลาดซ้ำเติมสถานการณ์รุนแรง


สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ SONP เปิดเผยว่า จากกรณีที่การสู้รบบริเวณจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก มีบริบทของสถานการณ์ที่สื่อมวลชนต้องระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์(SONP) ขอความร่วมมือให้สมาชิกสมาคมฯ ตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ในทุกมิติอย่างรอบด้าน โดยยึดมั่นแนวทางการรายงานข่าวภายใต้แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การนำเสนอข่าวสงครามหรือการสู้รบระหว่างประเทศ พ.ศ.2565 (https://www.presscouncil.or.th/regulation/8306) ดังนี้

1.ต้องพยายามพิสูจน์ทราบหรือระบุแหล่งที่มาของภาพ คลิปวิดีโอ หรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ก่อนนำมาเสนอประกอบข่าว เพราะอาจเป็นภาพหรือคลิปวิดีโอจากเหตุการณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ในกรณีการใช้แฟ้มภาพข่าว ควรระบุวันที่และบริบทให้ชัดเจนด้วย

2.ต้องแก้ไขเนื้อหาข่าว การเผยแพร่ภาพ หากนำเสนอข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงโดยไม่ชักช้า รวมถึงชี้แจง และลบข้อมูลทุกช่องทางที่มีการเผยแพร่ ในกรณีที่เป็นความผิดพลาดร้ายแรง เพื่อไม่ให้สืบค้นย้อนหลังในระบบอินเทอร์เน็ต และลดการกระจายข้อมูลที่ผิดพลาด

3.พึงเลือกเสนอข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในแง่ของความเป็นกลาง ความเที่ยงตรง และตั้งอยู่บนหลักจริยธรรม อีกทั้งระมัดระวังในการแปลเนื้อความหรือนำเสนอให้ถูกต้องตรงตามแหล่งข้อมูล

4.พึงระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาข่าวในแง่แสนยานุภาพ กำลังอาวุธ หรือยุทธวิธีเพียงอย่างเดียว และหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจว่าสงครามเป็นการแข่งขันกีฬาหรือเรื่องน่าตื่นเต้น

5.พึงระมัดระวังการเสนอภาพ หรือคลิปความสูญเสียที่สยดสยองหรือหวาดเสียว โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่นำความสูญเสียในสงครามเป็นเครื่องมือกระตุ้นยอดขาย หรือยอดคนดู

6.พึงเสนอข่าวโดยให้ความสำคัญต่อหลักมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสงคราม (Rules of war)

7.พึงเสนอเนื้อหาข่าวโดยให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามไม่ว่าฝ่ายใด รวมถึงบทบาทของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยสงคราม และกระบวนการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในยามสงคราม ไม่ว่าฝ่ายใด

8.พึงเสนอข่าวโดยให้ความสำคัญกับความพยายามต่างๆ เพื่อยุติสงครามหรือลดความรุนแรงของการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสันติภาพ การเจรจาสงบศึก ฯ

9.พึงนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสงครามโดยตระหนักว่า สื่อมวลชนสามารถมีบทบาทในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ โดยการเสนอข้อเท็จจริง ลดความเกลียดชังและอคติ นำหลักการสื่อสารมวลชนเพื่อสันติภาพ (Peace journalism) มาประยุกต์ในการทำงาน

นอกจากนี้ ต้องยึดมั่นการรายงานข่าวตามแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นไปตามจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. 2567 โดยเฉพาะหมวดที่ 3 การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขององค์กรสื่อมวลชน (https://www.presscouncil.or.th/regulation/10886) อาทิ

ข้อ 4 การใช้ประโยชน์จาก AI ในกระบวนการผลิตเพื่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ต้องยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ อย่างเคร่งครัด

ข้อ 5.11 องค์กรสื่อมวลชนพึงระมัดระวังการใช้ AI ในการนำเสนอข่าวด่วน ข่าวสถานการณ์ที่จำเป็นต้องรายงานทันที (Breaking News) โดยการผลิต หรือเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ให้คำนึงถึงจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนโดยเคร่งครัด

ข้อ 5.12 องค์กรสื่อมวลชนพึงหลีกเลี่ยงการใช้ภาพที่สร้างจาก AI แทนการใช้ภาพจริง และตระหนักถึงการใช้ภาพที่สร้างจาก AI อย่างเหมาะสม

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ และหวังเห็นทุกฝ่ายใช้กระบวนการสันติวิธีเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียไปมากกว่านี้

Back to top button