เสิร์ฟ 11 หุ้นเด่นน่าเก็บ โกยรายได้ทะลัก! รับเทศกาลกินเจ

ใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจปี 60 ระหว่างวันที่ 20-28 ตุลาคม โดยในปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 4,500 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคอาหารเจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเทรนด์รักสุขภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเจปีนี้จะคึกคักไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา


ใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจปี 60 ระหว่างวันที่ 20-28 ตุลาคม โดยในปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 4,500 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคอาหารเจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเทรนด์รักสุขภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเจปีนี้จะคึกคักไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา

โดยเห็นได้จากบรรดาห้างร้านผู้ประกอบการหลายแห่งเตรียมสินค้าและอาหารเพื่อรองรับเทศการกินเจกันแล้ว อาทิ ห้างใหญ่ “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ที่มีการจัดงาน “เจทั่วทิศ กุศลจิตทั่วไทย”ทุกสาขา ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ได้เปิดขายเมนูเจกว่า 200 รายการ  ขณะเดียวกันบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลกินเจก็น่าจะหนุนบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น และหนุนให้ราคาหุ้นคึกคักอีกครั้งเช่นกัน

ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเทศกาลกินเจมานำเสนอ โดยกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลดีคือ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งกลุ่มบริการ 

สำหรับกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโดยจะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช และจำหน่ายแป้งสาลี แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งเอนกประสงค์  ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นในช่วงเทศกาลกินเจ อาทิ LST, TVO, UPOIC, UVAN, VPO, KASET และ TMILL อีกทั้งบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และน้ำผักผลไม้ อาทิ MALEE, TIPCO โดยสินค้าประเภทนี้จะได้รับความนิยมและขายดีในช่วงเทศกาลกินเจเป็นอย่างมาก

ด้านกลุ่มบริการ ส่วนใหญ่อยู่หมวดธุรกิจพาณิชย์ อาทิ CPALL และ MAKRO ก็น่าจะเป็นได้รับผลดีไม่แพ้กัน เพราะร้านสะดวกซื้อจะมีอาหารหลากหลาย และตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ขณะที่ห้างสรรพสินค้าก็ได้ประโยชน์การจับจ่ายสินค้าและการจัดโปรโมรชั่นรับเทศกาลเจตรงนี้ก็น่าจะหนุนยอดขายได้อย่างมาก

 

สำหรับบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไขมันพืชผสม และเนยเทียม ผักและผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และซอสปรุงรส โดยสินค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีคือน้ำมันพืชตราหยก

อีกทั้งคาดว่าเครื่องดื่มน้ำนมถั่วเหลือง (ยี่ห้อ “Home Soy” ผลิตภายใต้ UFC บ.ลูกของ LST ถือหุ้น 99%) และสินค้าเครื่องดื่มน้ำผลไม้ โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวยี่ห้อ UFC จะรับอานิสงส์เทศกาลกินเจปีนี้

บริษัทคาดว่าปริมาณการขายปีนี้จะอยู่ที่ราว 1.3-1.4 แสนตันใกล้เคียงกับปี 59 หรืออาจจะเติบโตราว 1-2% ในปีนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้งเนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มและถั่วเหลืองเริ่มฟื้นตัวกลับมา

ส่วนบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง(ตราองุ่น) และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ กากถั่วเหลือง, ดีฮัล ซอยมีล, ฟูลแฟตซอย, ดีฮัล ฟูลแฟตซอย รวมทั้ง เลซิติน น้ำมันทานตะวัน และกากทานตะวัน

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ราคาถั่วเหลืองปรับขึ้น W-W เป็นสัปดาห์ที่ 2) ตรงนี้ก็น่าจะเป็นบวกต่อ TVO

ด้านบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC ผู้ดำเนินกิจการปลูกปาล์มน้ำมัน และมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น เช่น น้ำมันปรุงอาหาร เนยเทียม ไอศครีม สบู่ แชมพู ส่วนผสมอาหาร เคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์ เป็นต้น และน้ำมันปาล์มยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือก

ส่วนบริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN ดำเนินธุรกิจหลัก คือ สวนปาล์ม สกัดน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผลิตภัณฑ์พลอยได้ คือ เมล็ดในปาล์ม กากเมล็ดในปาล์มและกะลาปาล์ม

สำหรับบริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากของเสียหรือสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ

ส่วนบริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี ได้แก่ แป้งบะหมี่สด แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งบิสกิต แป้งเอนกประสงค์ แป้งอาหารสัตว์ เป็นต้น

บล.อาร์เอชบี ระบุว่า TMILL ช่วงไฮซีซันหนุนผลงานไตรมาส 4/2560 พุ่งแรง คาดความต้องการแป้งสาลีเพิ่มสูงขึ้น หนุนออเดอร์ทะลัก มั่นใจสิ้นปีผลงานโตเด่น ลุ้นงบไตรมาส 3/2560 มองกำไรเติบโต 42% ซื้อเป้า 7.10 บาท

ด้านบริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) หรือ KASET ผลิตสินค้าทางการเกษตร และเกษตรแปรรูปเช่น ข้าว วุ้นเส้น โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก ภายใต้แบรนด์ “ตราเกษตร”ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี

ส่วนบริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ MALEE ผลิตและจำหน่ายผลไม้กระป๋องและน้ำผลไม้ ภายใต้เครื่องหมายการค้า มาลี โดยมีจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บล.ซีไอเอ็มบี ระบุว่า MALEE คาดจะมีกำไรต่อหุ้นเติบโต 25.4%ในปี FY18 และ 21.3% ในปี FY19 ขณะที่เชื่อว่าช่วงเวลาเลวร้ายจะผ่านไปเมื่อยอดขายน้ำมะพร้าวฟื้นตัวหลังบริษัทปรับปรุงกระบวนการ QC ยังมองว่าผลิตภัณฑ์แบรนด์ MALEE จะช่วยผลักดันผลกำไรโดยเฉพาะการส่งออกแนะนำ”ซื้อ”ที่ราคาเป้าหมายใหม่ 47 บาทหลังเลื่อนปีฐานเป็นสิ้นปี FY18

ด้านบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO ผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้น น้ำผลไม้รวมและเครื่องดื่มบรรจุพร้อมดื่ม เช่น น้ำสมุนไพรและน้ำแร่ธรรมชาติพร้อมดื่ม

บล.ซีไอเอ็มบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำซื้อ TIPCO โดยมีราคาเป้าหมาย 21.30 บาท โดยเชื่อว่าการดำเนินการต่อไปนี้จะกลายเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยผลักดันราคาหุ้น TIPCO: 1) การแยกธุรกิจสับปะรดกระป๋อง (Tipco pineapple) ซึ่งคาดจะดำเนินการเสร็จในไตรมาส4/60 และ 2) แผนของบริษัทที่จะขยายกำลังการผลิตน้ำแร่อีกเท่าตัวภายในปลายปี 61

โดยมองว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีต่อแนวโน้มกำไรบริษัทและน่าจะทำให้บริษัทจ่ายปันผลสูงขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน เรามองว่าภาษีน้ำตาลและภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ประกาศในเดือนกันยายนจะมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ในวงจำกัด

ด้านบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven และให้สิทธิแก่ผู้ค้าปลีกรายอื่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และลงทุนในธุรกิจสนับสนุนธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและเบเกอรี่

บล.เคทีบี ระบุว่า CPALL ประเมินมูลค่าโดยวิธี DCF อิง WACC ที่ 7.5% และ terminal value growth ที่ 3% สะท้อนธุรกิจที่ยังไปได้ดี มีความ Defensive และขยายตัวตามการบริโภคในระยะยาว ได้ราคาเหมาะสมที่ 79 บาท ซึ่งเป็นราคาเหมาะสมปี 2018 ปรับขึ้นจาก 73 บาท (ราคาเหมาะสมเดิมปี 2017)  ณ ราคาปัจจุบัน ยังมี upside อยู่  13% แนะนำ “ซื้อ”

ส่วนบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ แม็คโคร ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจนำเข้า, ส่งออก และจำหน่ายสินค้าแช่แข็งและแช่เย็น

บล.เคจีไอ ระบุว่า กลุ่มค้าปลีก (BJC*, TNP, MAKRO, COM7*) จากประเด็นการออกพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่ออีก 1 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค.2560-30 ก.ย.2561 คาดจะเป็นบวกต่อการบริโภคในประเทศต่อเนื่อง แนะนำ “เก็งกำไร” หุ้นค้าปลีก Laggard อย่าง BJC*, TNP, MAKRO, COM7*

 

*ข้อมูลดังกล่าวเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนระยะสั้นช่วงเทศกาล (1-9 วัน) อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรระมัดระวังถึงความเสี่ยง และพิจารณาปัจจัยพื้นฐานรวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย

Back to top button