เปิดโผหุ้นเด็ดรับเต็มอานิสงส์กฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ จ่อใช้ทันที 25 ธ.ค.

เปิดโผ 4 หุ้นเด็ดรับเต็มอานิสงส์กฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ จ่อใช้ทันที 25 ธ.ค.นี้หากผ่านสภาคองเกรส


ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้ดำเนินมาจนถึงขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่ร่างภาษีผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ ซึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ ก็จะถือเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 30 ปี และจะถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของปธน.ทรัมป์และพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรส นับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค.

โดย มาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐ หลังจากที่รัฐสภาได้ข้อสรุปคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะลดลงเหลือ 21% จากเดิม 35% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะลดขั้นบนสุดเหลือ 37% จากเดิม 39.6% ทั้งหมด 7 ขั้น (ตามฐานรายได้) ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือรัฐสภาลงคะแนนเสียง และส่งต่อให้ปธน.ทรัมป์เซ็นอนุมัติเป็นกฎหมาย โดยน่าจะเสร็จสิ้นก่อนคริสต์มาส  25 ธ.ค. และมีผลในปี 2561 ทันที

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ จึงได้ทำการสำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว รวมทั้งบจ.ที่จะได้รับผลกระทบมาเพื่อให้นักลงทุนได้ตัดสินใจในการเลือกเข้าลงทุน

สำหรับบจ.ที่จะได้รับประโยชน์เป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตที่สหรัฐฯ โดยได้รับผลบวกโดยตรงจากนโยบายการลดภาษี ในแง่ของเรื่องค่าใช้จ่ายที่ลดลง และการลดภาษีนิติบุคคลเงินได้บุคลธรรมดา ดังนั้นหุ้นในตลาดหุ้นไทยที่น่าจะได้รับประโยชน์ อาทิ

บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ซึ่งมีโรงงาน 1 โรงงานที่มลรัฐโอไอโฮ ชื่อบริษัท ฮานา ไมโครดิสเพลย์ เทคโนโลยี อิงค์จำกัด สำหรับผลิต Liquid Crystal on Silicon โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 5 % ของรายได้ทั้งหมด หากมีการลดภาษีจาก 35% เป็น 15% คาดว่าจะช่วยหนุนกำไรให้ Hana เพิ่มขึ้นประมาณ 1%

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ได้ผลบวก จาดโรงงานที่ตั้งในพื้นเกือบครบวงจร มีกำลังการผลิตประมาณ 26% ของทั้งหมด ขณะที่ค่า EBITDA คิดเป็น 30-40% ของทั้งหมด คาดลดภาษี จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายภาษีลดลงประมาณ 23% ซึ่งจะส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว ๆ 4%

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ได้ผลเชิงบวกโดยตรงจากมาตรภาษีนิติบุคคลดังกล่าว เนื่องจากมีรายได้กว่า 40% มาจากในสหรัฐ และผลบวกทางอ้อมจากการลดภาษีบุคคลธรรมดา ช่วยทำให้การบริโภคดีขึ้น

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้ประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลงเช่นกันแต่ไม่มากนัก โดยกำไรสุทธิปี 2560-61 เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% และ 0.3% ตามลำดับ โดยมีธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ Bellisio อยู่ในสหรัฐ

บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ได้รับผลบวกในกลุ่มตลาดฉนวนยางกันความร้อนหรือเย็นที่ทำตลาดอยู่ในสหรัฐอเมริกา

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เคยระบุในบทวิเคราะห์ว่า นโยบายปรับลดภาษีและการแก้ไขสัญญาการค้าระหว่างประเทศเพื่อเน้นให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคในประเทศมากขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ เนื่องจากการปรับลดภาษีจะทำให้การลงทุนในต่างประเทศลดลง ผสานกับการยกเลิกการค้าระหว่างประเทศทำให้ประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับกลุ่ม รวมถึงภาระหนี้ของภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ทั้งนี้กลุ่มที่ได้รับผลเชิงบวกต่อนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่

1) กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิส์ คือ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้ง บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA และบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI จากมาตรการลงทุน infrastructure และ cyber securities เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ด้าน telecom และ network มากขึ้น

2.) กลุ่มพลังงาน รัฐบาลของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะลดการสนับสนุนพลังงานทดแทนเชิงอ้อม ส่งผลบวกต่อแนวโน้มการใช้พลังงานที่มาจาก Fossil และทำให้ผู้ผลิต Shale oil/gas ในสหรัฐฯมีความคล่องตัวในการผลิตมากขึ้น

3.) กลุ่ม Soft Commodity คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL, บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR และบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคหนุน farm income จะทำให้ราคา soft commodity เพิ่มขึ้น

4.) กลุ่มท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย หากสหรัฐมีมาตรการด้านคนเข้าเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเปลี่ยนจุดหมายปลายทาง

5.) กลุ่มที่มีบริษัทย่อยในสหรัฐ คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และบริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ CFRESH คาดส่งผลบวกต่อกิจการในประเทศสหรัฐฯ โดยต้นทุนภาษีเงินได้เฉลี่ยจะปรับตัวลดลง

 

ขณะที่กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่

1.) กลุ่มอาหาร กระทบผู้ส่งออกจากมาตรการกีดกันการค้าจะเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมส่งออกอาหารของไทย ซึ่งธุรกิจกุ้งน่าจะได้รับการกีดกันทางการค้ามากกว่าผู้ส่งออกทูน่า

2.) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ ยานยนต์ และนิคมอุตสาหกรรม โดยการส่งออกรถยนต์อาจกระกระทบจากนโยบายที่ต้องการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ในประเทศสหรัฐฯเอง แต่อย่างไรก็ตามจะส่งผลกระทบไม่มากเนื่องจากยอดส่งออกรถยนต์ไป Central & South America เท่ากับ 1.05 แสนคัน หรือเพียง 9% ของยอดส่งออกรวมที่ 1.16 ล้านคันในปี 59 และประเด็นนี้อาจกดดันการขยายกำลังการผลิตในไทยชะลอลง กดดันกลุ่มนิคมฯ อีกทางหนึ่ง

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button