ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 – “ตึกมหานคร” PACE หนังม้วนยาวทำผบห.ระส่ำระสาย

ย้อนรอยข่าวร้อนข่าวดังปี 60 - “ตึกมหานคร” PACE หนังม้วนยาวทำผบห.ระส่ำระสาย


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและคัดเลือกประเด็นเด่นประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาอย่างปี 2560 เพื่อนำมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านอีกครั้ง โดยในวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวของ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีปัญหาหนี้สินรุมเร้า อีกทั้งยังขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยในปี 2556 บริษัทขาดทุน 795 ล้านบาท, ปี 2557 ขาดทุน 378 ล้านบาท ขณะที่ปี 2558 ขาดทุน 1,785 ล้านบาท และในปี 2559 ขาดทุนสูงถึง 2,326 ล้านบาท

เริ่มด้วยข่าวร้ายประเดิมต้นปี หลังบริษัทประกาศงบปี 2559 ออกมาไม่สวยนัก ขาดทุนหนักกว่า 2.33 พันล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่ม โดยหลังจากประสบปัญหาขาดทุนดังกล่าวทำให้ PACE ต้องหันหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรจีน ซิติค คอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อหวังประคองงบการเงินของบริษัท

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE ได้ออกมายอมรับว่าบริษัทมีหนี้อยู่ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้หนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) หนี้ตั๋วเงินระยะยาว รวมถึงหนี้การค้า แต่ในช่วงไตรมาส 2/60 บริษัทได้ทยอยชำระหนี้ตั๋ว B/E แล้ว 3 พันล้านบาท จนทำให้จำนวนหนี้สินค้างชำระลดลงไปอย่างมาก

อีกทั้งการที่บริษัทได้ร่วมทุนกับกองทุนอีก 2 ราย อย่าง Apollo และ Goldman Sachs ในช่วงต้นปี ยังทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดในมือ และลดหนี้สินไปได้แล้วกว่า 3 พันล้านบาท จึงมั่นใจว่าในอนาคตอัตราหนี้สินของบริษัทจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หลังจากที่ PACE ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัทในเครือ Apollo เป็นผลให้งบ Q2/60 เติบโตแบบมโหฬาร พลิกมีกำไรกว่า 5 พันล้านบาท แต่ข่าวดีก็มาพร้อมข่าวร้าย เมื่อหลังจาก PACE ประกาศงบสุดหรู กลับถูก ตลท.แขวนเครื่องหมาย SP ทันที เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ข้อสรุปต่องบการเงินได้ โดยให้เหตุผลว่า

“เนื่องจากความไม่แน่นอนอย่างเป็นสาระสำคัญของการประมาณการรายได้ของจุดชมวิว อาจมีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญต่องบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถให้ข้อสรุปผลการสอบทานของข้าพเจ้าต่องบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดสามเดือนและหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2560”

ไม่ปล่อยให้รอนาน ต่อมาในวันที่ 17 สิงหาคม PACE ได้ออกมาชี้แจงต่อตลท.ว่า กำไรในไตรมาส 2/60 เป็นกำไรที่เกิดขึ้นจริงจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนของกลุ่ม Apollo และกลุ่ม Goldman Sachs ซึ่งมูลค่าความยุติธรรมของเงินลงทุนดังกล่าวมาจากการประเมินของที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลกที่บริษัทว่าจ้างมา จนทำให้หุ้น PACE ถูกปลดเครื่องหมาย SP และกลับเข้ามาซื้อขายได้ตามปกติ

แต่เพียงหลังจากนั้นไม่นาน PACE ได้เจอปัญหาใหญ่อีกระลอกหลังสูญเสียอำนาจควบคุมในส่วนของโรงแรมในโครงการมหานคร เนื่องจากกลุ่มผู้ร่วมทุนอย่าง Apollo และกลุ่ม Goldman Sachs ได้ส่งกรรมการเข้ามาร่วมบริหารในบริษัทจนเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนวิธีการบันทึกแบบส่วนได้ส่วนเสียใสเป็นเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้าแทน

เท่านั้นยังไม่พอ ต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ก.ล.ต. สั่ง PACE ชี้แจงประเด็นสัญญา Consent Conditions Undertaking (CCU) หลังจากที่บริษัทได้ลงนามในสัญญากับผู้ร่วมทุน 3 ราย (Apollo Asia Sprint Holding Company Limited, Goldman Sachs Investments Holdings (Asia) Limited และ Mercer Investments (Singapore) Pte., Ltd.) เมื่อช่วงต้นปีจนมีภาระผูกพันจนต้องซื้อหุ้นบุริมสิทธิบางส่วนคืนจากคู่สัญญา

โดยให้ชี้แจงว่าสัญญาดังกล่าวจะกระทบต่อภาระหนี้สินหรือไม่ ซึ่งในเวลาต่อมา PACE ได้ออกมาบอกว่าได้ทำการยกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับอีเมลยืนยันการบอกเลิกสัญญาจากกลุ่ม Apollo ในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ซึ่งจากกรณีดังกล่าว

ฟาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ของ PACE ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังจาก PACE ยกเลิกสัญญา CCU ว่า การยกเลิกสัญญาดังกล่าวทำให้ PACE เบาตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีภาระต้องนำเงินกว่า 3 พันล้านบาท เพื่อไปรับซื้อหุ้นบุริมสิทธิบางส่วนคืนจากคู่สัญญา จึงเป็นที่น่าจับตาว่า SCB จะมีความคิดเห็นอย่างไร และยังจะมีการปล่อยเงินกู้ให้แก่ PACE เพิ่มเติมอีกหรือไม่

ขณะที่ต่อมาเริ่มมีกระแสข่าวในเชิงบวก หลังเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เกิดกระแสข่าวลือว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รุมตอมจีบ PACE เพื่อขอซื้อโครงการบางส่วน และเฉลยในเวลาถัดมาว่าผู้ที่ร่วมชิงเค้กกันนั้นคือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI และบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S

และผู้ชนะในการแข่งขันนี้คือ SIRI หลังเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน PACE ออกมาเปิดเผยว่าได้ทำการเซ็นสัญญาการซื้อขายโครงการนิมิตหลังสวน และห้องชุดที่พักอาศัยในโครงการเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดน เซส บางกอกกับ SIRI เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สัญญาดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อตกลงสุดท้าย และอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากการตรวจสอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย รวมถึงการเจรจาต่อรองกับคู่สัญญา ซึ่งทาง SIRI จะแจ้งอีกครั้งภายใน 2 เดือนนับจากวันเซ็นสัญญา และหากบรรลุข้อตกลงและเงื่อนไขข้อกำหนดจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายได้ทันภายในปี 2561

ด้านธนาคารไทยพาณิชน์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในฐานะเจ้าหนี้หลักของ PACE ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า หากดีลดังกล่าวบรรลุข้อตกลงตามแผน จะทำให้ PACE มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเงินเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างโครงการใหม่ๆ ในอนาคตเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงให้กลับมาเหมือนเดิม

“กระบวนการที่ปล่อยกู้ให้ PACE และการเพิ่มทุนนั้น ต้องบอกว่าในเชิงการทำโครงการแบงก์เป็นผู้ให้การสนับสนุน  ส่วนเรื่องตั๋วเงินบี/อีไม่ได้เกี่ยวกับธนาคาร แต่เป็นภาระหนี้ของ PACE และโครงการโดยภาระหนี้ของโครงการก็ยังแก้ไขไปตามแผน แต่พอมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นต่อระบบโดยรวม ไม่ได้เกิดจาก PACE ทำให้ PACE ได้รับลูกหลงจากปัญหาจากความไม่เชื่อมั่นวิกฤตบี/อี รวมไปถึงธุรกิจรายอื่นหลายรายด้วย”

หลังข่าวดีผ่านพ้นไปข่าวร้ายก็เข้ามาทักทายอีกครั้ง เมื่อบริษัทประกาศงบไตรมาส 3/60 ขาดทุนเพิ่มเกือบพันล้านบาท แถมยังโดน ตลท. แขวนเครื่องหมาย SP หลังผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินเป็นครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า

“ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติงานสอบทานตามมาตรฐานงานสอบทาน รหัส 2410 การสอบทานข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของกิจการ การสอบทานดังกล่าวประกอบด้วย การใช้วิธีการสอบถามบุคลากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงินและบัญชีและการวิเคราะห์เปรียบเทียบและวิธีการสอบทานอื่น

การสอบทานนี้มีขอบเขตจำกัดกว่าการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นว่าจะพบเรื่องที่มีนัยสำคัญทั้งหมด ซึ่งอาจพบได้จากการตรวจสอบ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่อาจแสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทานได้”

โดยจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้น PACE ถูกแขวนเครื่องหมาย SP และห้ามซื้อขายเป็นเวลา 1 วัน ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย NP ในวันต่อมา ซึ่งทาง ตลท.แจ้งว่าและจะขึ้นเครื่องหมาย NP จนกว่า PACE จะนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไข หรือจนกว่าจะได้ข้อสรุปว่าไม่ต้องแก้ไขงบการเงิน

ขณะเดียวกัน การที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็นต่องบการเงินติดกันทั้งในไตรมาส 2/60 และไตรมาส 3/60 เป็นเหตุให้ทาง ก.ล.ต.สั่ง PACE ชี้แจงสมมติฐานที่ใช้ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด และให้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ทาง PACE ได้ขอขยายเวลาออกไปเรื่อยๆ และให้คำมั่นว่าจะชี้แจงประเด็นดังกล่าวรวมถึงนำส่งงบการเงินภายในวันที่ 15 มกราคม 61 นี้

อย่างไรตาม หนังม้วนยาวเรื่องนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไป โดยประเด็นที่น่าจับตาต่อจากนี้คือในวันที่ 15 มกราคม 2561 จะมีคำชี้แจงและงบการเงินฉบับแก้ไขจาก PACE หรือไม่

รวมถึงประเด็นการซื้อขายโครงการระหว่าง PACE และ SIRI ที่คาดว่าหากบรรลุข้อตกลงและเงื่อนไขข้อกำหนดจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายได้ภายในปี 2561 จะทำให้ธุรกิจพลิกมีกำไรเป็นปีแรก เนื่องจากผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,773 ล้านบาท ซึ่งยังมองเห็นโอกาสในการปิดงบปี 2560 แบบสวยหรูพลิกมีกำไรให้เชยชมเป็นครั้งแรก

Back to top button