5 หุ้นกำไรติดเทอร์โบ Q1 พุ่งปรี๊ดกว่า 1,000%

เผยโฉม 5 หุ้นเด็ดไตรมาส 1 สุดหรู โชว์กำไรถล่มทลายเกิน 1,000% แหล่งที่มาของรายได้หลากหลายรูปแบบ แถมไม่แคร์เศรษฐกิจที่ซบเซา ฟากกูรูมองเป็นหุ้นน่าเล่น แถมส่งซิกไตรมาส 2 มีแววกำไรออกมาดี


เผยโฉม 5 หุ้นเด็ดไตรมาส 1 สุดหรู โชว์กำไรถล่มทลายเกิน 1,000%  แหล่งที่มาของรายได้หลากหลายรูปแบบ แถมไม่แคร์เศรษฐกิจที่ซบเซา ฟากกูรูมองเป็นหุ้นน่าเล่น แถมส่งซิกไตรมาส 2  มีแววกำไรออกมาดี

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจช่วงการประกาศผลดำเนินงานประจำไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.58 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า มีหุ้นที่ผลประกอบการโดดเด่น มีกำไรถล่มทลายเกินกว่า 10 เท่าตัวหรือเกิน 1,000% จำนวน 5 ตัว ซึ่งแต่ละหุ้นมีที่มาที่ไปของผลกำไรที่แตกต่างกัน

 

เริ่มต้นที่หุ้นโรงแรมอย่าง บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW มีกำไรสุทธิ 139.63 ล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.06 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นกว่า 4,435% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3.08 ล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.001 บาทต่อหุ้นโดยปัจจัยที่ทำให้กำไรเติบโตขึ้นกว่า 40 เท่าตัว เกิดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงไตรมาส 1 ส่งผลให้รายได้หลักของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 6 บาทต่อหุ้น โดยมองเรื่องการเทิร์นอะราวด์ของผลกำไรในไตรมาสแรกเป็นบวก อีกทั้งมีความมั่นใจว่า ผลประกอบการของบริษัทจะเติบโตตลอดทั้งปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่  ERW ประกาศแผนการขายโรงแรมเข้ากอง REIT ในช่วงไตรมาส 2 และหากเกิดขึ้นจริง จะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุน ทำให้หุ้นตัวนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ราคาหุ้น ERW วานนี้ (19 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 4.60 บาท ปรับตัวขึ้น 0.06 บาท หรือ 1.32% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 14.87 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่สองคือ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS มีกำไรสุทธิ 1.28 หมื่นล้านบาท หรือมีกำไรราว 1.83 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นกว่า 1,339% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 851.75 ล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.12 บาทต่อหุ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้กำไรเติบโตขึ้นมากกว่า 13 เท่าตัว เกิดจากจำนวนลูกค้ามาขอใช้บริการ 3BB เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบริษัทได้ทำการขายสินทรัพย์บางส่วนเข้าในกองทุนรวม JASIF โดยคิดเป็นมูลค่าได้กว่า 4.70 หมื่นล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 7.50 บาทต่อหุ้น โดยประเด็นบวกระยะสั้นประกอบไปด้วย 1) การครบกำหนดการขายหุ้นซื้อคืนจำนวน 142 ล้านหุ้น ในวันที่ 23 มิ.ย. 2558 ซึ่งมีโอกาสที่บริษัทจะทำการลดทุนจดทะเบียนชำระแล้ว หากไม่มีการขายคืน และ 2) หากบริษัทไม่ชนะการประมูลคลื่น 4G ในท้ายที่สุด มีโอกาสที่จะนำเงินส่วนที่เหลือจากการขายกองทุน JASIF อีกราว 2.50 บาทต่อหุ้น มาจ่ายคืนแก่ผู้ถือหุ้น

ขณะที่ราคาหุ้น JAS วานนี้ (19 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 5.00 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าซื้อขาย 458.65 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่สามคือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC มีกำไรสุทธิ 3.81 พันล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.19 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นกว่า 1,015% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 343.68 ล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.02 บาทต่อหุ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้กำไรเติบโตขึ้นกว่า 10 เท่าตัว เกิดจากบริษัทได้บันทึกกำไรจากการกลับรายการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 2.82 พันล้านบาท หลังจาก บริษัท ทีพีไอ อะโรเมติกส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นลูกหนี้ ได้ชำระหนี้คืนเป็นจำนวน3.88 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลหนี้ตามบัญชีที่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ก่อนหน้า

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 4.70 บาทต่อหุ้น โดยระยะยาวมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานที่กำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องด้วยราคาปัจจุบันได้ปรับตัวขึ้นมาสะท้อนความคาดหวังไปมากแล้ว ทำให้นักวิเคราะห์แนะนำเพียงแค่ “ถือ” โดยคาดหวังว่า IRPC จะสามารถจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุนที่อัตราประมาณ 2%  

ขณะที่ราคาหุ้น IRPC วานนี้ (19 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 4.30 บาท ปรับตัวขึ้น 0.04 บาท หรือ 0.94% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 314.53 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่สี่คือ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE มีกำไรสุทธิ 2.26 พันล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.54 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นกว่า 1,060% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 194.76 ล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.06 บาทต่อหุ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้กำไรเติบโตขึ้นกว่า 10 เท่าตัว เกิดจากบริษัทได้รับกำไรจากการขายเงินลงทุนในหุ้นของ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ THREL

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 3.50 บาทต่อหุ้น โดยมองภาพรวมของธุรกิจในช่วงไตรมาส 1/58 เต็มไปด้วยสัญญาณบวกหลังหมดภาระน้ำท่วม และมีความเป็นไปได้ที่บัญชีลูกค้าจะเพิ่มเป็น 305% อีกทั้งยังรอการปรับอันดับเครดิตขึ้นไปที่ A  หรือแม้กระทั่งการล้างขาดทุนสะสมทั้งจำนวนในไตรมาส 2/58 เพื่อกลับมาจ่ายปันผล ล้วนเป็นปัจจัยที่สนับสนุนหุ้นโดยตรง

ขณะที่ราคาหุ้น THRE วานนี้ (19 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 3.26 บาท ปรับตัวลง 0.08 บาท หรือ 2.40% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 16.71 ล้านบาท

 

หุ้นตัวสุดท้ายคือ บริษัท ยูนิ เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV มีกำไรสุทธิ 89.39 ล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.05 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นกว่า 1,143% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.19 ล้านบาท หรือมีกำไรราว 0.004 บาทต่อหุ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้กำไรเติบโตขึ้นมากกว่า 11 เท่าตัว เกิดจากบริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ รวมไปถึงการให้เช่าเพิ่มขึ้น โดยช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 2.71 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 96%

ด้านบล.เอเซีย พลัส เคยระบุในบทวิเคราะห์ว่า ระยะสั้น UV ยังต้องเผชิญกับผลของ Dilution Effect จากการเพิ่มทุนเข้าไปซื้อ GOLD แต่ระยะยาวเมื่อสินทรัพย์ที่มีศักยภาพถูกนำมาพัฒนาและสร้างรายได้ ก็จะเห็นผลดีขึ้นมา ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนต้องถือเป็นการลงทุนที่หวังผลตอบแทนในระยะยาว

ขณะที่ราคาหุ้น UV วานนี้ (19 พ.ค.) ปิดที่ระดับ 8.00 บาท ปรับตัวขึ้น 0.10 บาท หรือ 1.27% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 11.31 ล้านบาท

 

*อนึ่ง รายงานการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลและบทความการวิเคราะห์ แต่ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งมิได้เจตนาที่จะนำไปสู่การชี้นำแต่อย่างใด ทั้งนี้นักลงทุน และผู้ใช้รายงานฉบับนี้ควรใช้วิจารณญาณส่วนตัวประกอบด้วย

Back to top button