เปิดกลยุทธ์รับมือตลาดขาลง โบรกฯชี้กลุ่มโรงแรม-ท่องเที่ยวยังเสี่ยง! แนะเล่นกลุ่มรพ.

เปิดกลยุทธ์รับมือตลาดขาลง โบรกฯชี้กลุ่มโรงแรม-ท่องเที่ยวยังเสี่ยง! แนะเล่นกลุ่มรพ.


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว และโรงแรม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวลดลงอย่างหนักในระยะสัปดาห์หลังจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา อีกทั้งในประเทศไทยยังมีค่าฝุ่น P.M.2.5 ที่อาจจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง

โดย บริษัท หลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ (22 ม.ค.63) โดยคาดว่า SET Index ยังเคลื่อนไหวผันผวนอยู่ภายใต้บริเวณ 1,580 จุด ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนปัจจัยแวดล้อมที่อยู่ในความสนใจ มีเรื่องของการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา ซึ่งกระทบต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม แต่มีกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ โรงพยาบาล จึงแนะนำให้นำหุ้น BCH เข้าพอร์ต โดยขายทำกำไรบางส่วนในหุ้น PTT และ ROBINS Top Picks เลือก CPF (FV@B 40), BCH (FV@B 22.10)

ไวรัสโคโรนา 63 แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุน หุ้นการบิน และท่องเที่ยว

โดยในต่างประเทศประเด็นร้อนแรงที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐาน  โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐ คือ การระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019  ระบาดคนสู่คน(Human-to-Human)ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิด “โรคปอดอักเสบ”  จุดกำเนิดถูกระบุว่าอยู่ใน เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนและขยายวงกว้างขึ้น  ล่าสุด  พบจำนวนผู้ติดเชื้อ อยู่ที่ 291 คน และมีผู้เสียชีวิต 6 คน   ล่าสุด  ในสหรัฐ พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย และเอเซียหลายประเทศ อาทิ ปักกิ่ง, เกาหลีใต้ โตเกียว เป็นต้น ทั้งนี้ คาดเป็นความเสี่ยงกระทบต่อยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติไทยในอนาคต  แม้ตัวเลขผู้ใช้บริการสนามบินของ AOT ระหว่าง 1-18 ม.ค. 63 แม้ขยายตัว 1.7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนดีขึ้นจาก ธ.ค. 62 ที่ทรงตัว (+0.6% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) เชื่อว่ามีโอกาสชะลอลงในอนาคต ซึ่งต้องติดตามต่อการควบคุมการแพร่กระจายของโรคว่าจะทำได้รวดเร็วเพียงใด คาดกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางไปทั่วโลกซึ่งมีกว่า 180 ล้านคน/ปี

ทั้งนี้ปี 2546 เกิดเหตุการณ์โรคเชื้อไวรัสโคโรนาคล้ายกัน คือ โรคซาร์ส (SARS)  ซึ่งโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เริ่มจากพื้นที่มณฑลกวางตุ้งของจีนเช่นกัน  และกระจายไปหลายประเทศ  ในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 774 คน จากจำนวนผู้ป่วย 8,098 คน ระยะพบเจอโรค SARS  จนกำจัดโรคหมดราวเวลา 8 เดือน พ.ย.2545-ก.ค.2546 ในครั้งนั้นกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทยพบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยปี 2546 ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยลดลงถึง 24% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน (ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนสัดส่วนราว 28%ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย เทียบกับปี 2546 สัดส่วนราว  6-7%)

ขณะที่ปี 2555 โรคเชื้อไวรัสโคโรนา คือ โรคเมอร์ส (MERS-Cov)  เริ่มต้นมาจากตะวันออกกลาง และระบาดทั่วโลก ผู้เสียชีวิต 1800 คน จากจำนวนผู้ป่วย 787 คน แต่ในครั้งนั้นไม่กระทบภาคท่องเที่ยวไทยพบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยปี 2556 ขยายตัว 19% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น 66% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนขยายตัว และนักท่องเที่ยงยังไม่กังวลต่อโรคนี้เท่าไหร่นัก

ในรอบนี้คาดเหตุการณ์จะคล้ายในอดีตคือ เป็นลบ(-) ต่อหุ้นในกลุ่มคือ

(-) การบิน การเดินทางท่องเที่ยวมีความเสี่ยงชะลอตัว คาดมีความเสี่ยงสูงกระทบต่อผู้ที่มีรายได้จากลูกค้าจีน โดยปัจจุบัน AAV, AOT, THAI และ BA ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากจีนราว 30%, 15%, 8% และ 2% ตามลำดับ ภาพรวม ยังคงให้น้ำหนักการลงทุน “น้อยกว่าตลาด” ระยะสั้นจึงแนะนำให้ชะลอการลงทุนในกลุ่มการบินไปก่อน

(-) ท่องเที่ยวและโรงแรม แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นในกลุ่มนี้ โดยกระทบหุ้นในกลุ่มทุกตัว โดยเฉพาะ ERW([email protected]) เพราะมีสัดส่วนรายได้มาจากโรงแรมในประเทศมากสุดราว  90%ของรายได้ทั้งหมด  ขณะที่ MINT(FV@B 40) และ CENTEL(FV@B 35) กระทบเช่นกัน โดย MINT เนื่องจากธุรกิจมีการกระจายคือ รายได้จากโรงแรมสัดส่วนราว 73%ของรายได้ทั้งหมด  และ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 19% และอื่นๆ 8%  ขณะที่ CENTEL รายได้จากโรงแรมราว 40%ของรายได้ทั้งหมด  แต่มีสัดส่วนจากธุรกิจอาหารสูง 60%

ฝุ่น PM2.5 และไวรัสโคโรนา 2019 บวกต่อหุ้นกลุ่มร.พ. ชอบ BCH

ทั้งนี้จากประเด็นการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ฝ่ายวิจัยฯคาดสร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มการบิน  รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในอดีตช่วงมี.ค.2546 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พบการระบาดของโรคซาร์สเป็นครั้งแรกในไทย โดยโรคดังกล่าวเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นเดียวกับปัจจุบัน พบว่า 1 เดือนหลังจากนั้น Fund flow ของต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 2.4 พันล้านบาท พร้อมกับกดดัน SET Index ปรับตัวลง 0.7% โดยหุ้นกลุ่มการบิน  และกลุ่มท่องเที่ยวปรับตัวลงแรงสุดกว่า 5.7% และ 6.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มหุ้นที่ Outperform ตลาดฯได้ดีและปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น คือ หุ้นกลุ่ม รพ. ที่ปรับตัวขึ้นสูงถึง 21% (ดังตารางด้านล่าง)

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นกลุ่ม รพ. เป็นหลัก ในมุมพื้นฐานกลุ่ม รพ. แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

สำหรับกลุ่ม รพ. เงินสด (BDMS, BH, PR9) สถานการณ์ความกังวลเรื่องสุขภาพ ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จากกรณีฝุ่น PM 2.5 ที่สูงในหลายพื้นที่ จนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กนักเรียน และนำมาสู่มาตรการปิดโรงเรียน 437 แห่งใน กทม. คาดว่ามีโอกาสที่จะสร้าง Upside ต่อประมาณการปี 2563 ได้เช่นกัน บวกจากเรื่องจำนวนผู้ป่วย โดยในกรณีดังกล่าว ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า BDMS ที่มีเครือข่าย รพ. ครอบคลุมทั่วประเทศมีโอกาสได้ประโยชน์มากสุด  เช่นเดียวกับ การระบาดของโรคปอดอักเสบที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นที่น่าจะสร้างผลบวกมากกว่าผลกระทบ เนื่องจากกรณี BDMS มีฐานลูกค้าจีนราว 1% ขณะที่ BH อยู่ราว 3%-4%

ขณะที่ในส่วน รพ. ประกันสังคม (BCH, CHG, RJH) จากข้อมูลที่ได้รับล่าสุด พบว่า เงินประกันที่จะได้รับต่ำกว่าอัตราที่ประกันสังคมกำหนดในส่วนของโรคร้ายแรง คือ จาก Adj. RW ละ 12,800 บาท ลดลงมาเหลือ 7,100 บาทในงวด 4Q62 ทุกรายจะรับรู้ผลกระทบในงวดไตรมาส 4/62 ซึ่งจะส่งผลให้ฐานกำไรปี 2562 ต่ำลงกว่าประมาณการในส่วนของ BCH และ RJH ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดบันทึกปี 2563 แต่จะช่วยให้กำไรปี 2563 ของ BCH และ RJH จะสูงขึ้นกว่าประมาณการปัจจุบัน และหนุนเติบโตโดดเด่นเช่นเดียวกับ CHG  ที่สมมติฐานกำหนดบันทึกผลกระทบดังกล่าวในไตรมาส 4/62 อยู่แล้ว โดยประเมินว่ากำไร BCH, RJH และ CHG จะได้ประโยชน์การปรับเพิ่มค่าหัวประกันสังคม 9.3% เต็มที่

โดยในกรณีที่กำหนดให้ผลกระทบรับรู้ในไตรมาส 4/62 จะหนุนกำไรปี 2563 BCH, RJH และ CHG เติบโตโดดเด่น 17%,28.7% และ 26.7% ตามลำดับ (ดังตารางสรุป) และยังสวนทางราคาหุ้นที่แทบไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวบวกดังกล่าว จึงเชื่อว่า 3 รพ. ดังกล่าวยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะ BCH ที่ได้ประโยชน์สูงจากที่มีฐานลูกค้าประกันสังคมมากสุด รวมถึง CHG ที่คาดเติบโตสูงเป็นลำดับต้นของกลุ่ม

 

แนะลงทุนกลุ่มหุ้นมีภูมิคุ้มกันโรคระบาด หุ้นร.พ. และหุ้นปันผลสูง

ตลาดหุ้นอยู่ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับหลายบททดสอบ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจชะลอ NPL เพิ่มขึ้น หากยืดเยื้ออาจนำไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยในอนาคต อีกทั้งยังเผชิญกับภัยธรรมชาติ ฝุ่น PM2.5 ภัยแล้ง และตอกย้ำด้วยโรคระบาดจากไวรัสโคโรนา ที่ระบาดขยายวงกว้างขึ้น

ขณะที่แรงขับเคลื่อนตลาด อย่าง Fund Flow ในปี 2563 ต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทย 4.2 พันล้านบาท (จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน) เช่นเดียวกับสถาบันฯ ที่ขายสุทธิ 9.0 พันล้านบาท (จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน) โดยเงินทุนส่วนใหญ่ถูกย้ายมาอยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้ จนกด Bond Yield 10 ปี ของไทยให้อยู่ในระดับต่ำอยู่ที่ 1.43% และต่ำกว่า Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐที่ 1.78% อยู่มาก

โดยสภาวะความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ประเด็นโรคระบาด บวกกับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ กลยุทธ์แนะลงทุนกลุ่มหุ้น Defensive ที่ได้ Sentiment จากประเด็นโรคระบาดโคโรนา รวมถึงฝุ่น PM2.5 คือ หุ้นร.พ. ที่มีพื้นฐานแข้งแกร่ง ชื่นชอบ BCH CHG และ BDMS (รายละเอียดในหัวข้อก่อนหน้า) รวมถึงกลุ่มหุ้นปันผลสูง ถือเป็นเกราะป้องกันความผันผวนของตลาด และมักจะปรับตัวขึ้นได้ดีก่อนการจ่ายปันผลเสมอ ชอบ MCS PSH LH PYLON EASTW รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน DIF JASIF และกองทุนอสังหาฯ ชอบ POPF คาดหวัง Dividend Yield ได้สูงกว่าราว 8% ต่อปี และขึ้นเครื่องหมาย XD เป็นลำดับแรกๆ ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ปีที่แล้ว ประกาศจ่ายเงินปันผลวันที่ 30 ม.ค. 62 ขึ้นเครื่องหมาย XD 12 ก.พ. 2562) นอกจากนี้ราคาหุ้นมักนิ่งๆ ไม่ผันผวน เหมาะที่จะหลบภัยในภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง

 

 

Back to top button