WICE เกาะกระแส “โลจิสติกส์” กำไรโต 3 เท่าตัว?

WICE เกาะกระแส “โลจิสติกส์” กำไรโต 3 เท่าตัว?


ถ้าพูดถึงหุ้นขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ ในตลาดหุ้นไทย นักลงทุนหลายคงต้องเคยได้ยินชื่อ WICE หรือ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ที่แม้ว่าไซส์จะไม่ใหญ่ แต่ถ้าว่าด้วยเรื่องผลงานถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS ประเมินกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 4/63  ของ WICE ว่ายังคงทำสถิติสูงสุดใหม่ (ออลไทม์ไฮ) ได้ต่อเนื่องที่ระดับ 86 ล้านบาท เติบโตถึง 393% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากทั้ง 3 ธุรกิจที่เติบโตดีต่อเนื่อง ทั้งอากาศ, เรือ และทางบก พร้อมกันนี้ ยังปรับมูลค่าพื้นฐานของหุ้น WICE ขึ้นเป็น 8.50 บาท จากเดิม 6.40 บาท

ทั้งนี้ บล.โนมูระ ยังคาดรายได้ในช่วงไตรมาส 4/63 ของ WICE ที่ระดับ 1.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 26% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ในภาวะที่การขนส่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก (60% ของรายได้) ยังสูงมาก และภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในสายเรือ พร้อมประเมินกำไรปี 64 เพิ่มขึ้น 21% ตามภาพอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เติบโต

นอกจากนี้ยังมองว่า WICE เป็นหุ้นที่มีปัจจัยหนุนทั้งระยะสั้น และกลางยาว โดยระยะสั้นยังรับประโยชน์จากภาวะตู้คอนเทนเนอร์ขาด กระตุ้นการเร่งขนส่งของลูกค้า และระยะกลางยาว เติบโตไปกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของแนวโน้ม 5G + Smart devices ที่ขยายตัวมากในเอเชีย

ขณะที่ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASP ประเมินภาพรวมธุรกิจของ WICE ในปี 64 ว่า ธุรกิจ Cross Border จะเติบโตสูง เพราะความต้องการจะมากขึ้น ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ภาคธุรกิจจะเร่งตัวขึ้นสำหรับลงทุน Digital และการเข้ามาของ 5G จะหนุนการ Work from Home ส่งผลบวกต่อความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ WICE กำลังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ

โดยประเด็นดังกล่าวคาดหนุนกำไรปี 64 เติบโต 11.2% จากปีก่อน ระยะสั้นมูลค่าการค้าระหว่างแดน (ด่านมุกดาหาร) เดือน ต.ค.- พ.ย. 63 ที่เติบโตสูงต่อเนื่อง 37%-24% จากปีก่อน ตามลำดับ ประกอบกับค่าบริการขนส่ง Air Freight และ Sea Freight สูงขึ้นจากกลไกลตลาดเพราะตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน คาดหนุนกำไรโตเด่นจากไตรมาส 4/62 ที่มีกำไรเพียง 13 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้ Covid-19 ระบาดครั้งใหม่ แต่ความต้องการขนส่งสินค้ายังจำเป็นต่อการเดินหน้าของภาคธุรกิจ โดยฝ่ายวิจัยแนะนำ “ชื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 7.80 บาท อิง DCF-WACC 9.69%

ด้านนักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PST ประเมินว่า WICE จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 4/63 สูงสุด (นิวไฮ) ที่ระดับ 58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 336.7% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.8% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณการขนส่งยังสูงต่อเนื่องจากไตรมาส 3/63 จากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งทั้ง 2 อุตสาหกรรมมีสัดส่วนในรายได้ที่ 65% และ 15% ประกอบกับค่าขนส่งทางเรือปรับสูงขึ้น จึงคาดรายได้จะทำนิวไฮเช่นกันที่ 932 ล้านบาท

ขณะที่ปี 64 ประเมินว่ากำไรยังโตแม้จะชะลอลง โดยปี 63 ได้ประโยชน์จาก COVID-19 ทั้งปริมาณขนส่ง และขึ้นของค่าบริการทั้งทางอากาศและทางเรือขึ้นผิดปกติ แม้อาจจะมีต่อเนื่องมาในครึ่งแรกปี 64 แต่ในครึ่งหลังปี 64 น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ผลบวกจึงลดลง แต่ ETL มีการสั่งต่อตู้คอนเทนเนอร์อีก 200 ตู้ เป็น 500 ตู้ รองรับงานที่เพิ่มขึ้นน่าจะยังมีการเติบโตที่โดดเด่นต่อในปีนี้

ทั้งนี้ปรับราคาพื้นฐานเป็น 6.75 บาท และยังคงแนะนำ “ซื้อ” พร้อมปรับกำไรปี 63 ขึ้นอีก 11.7% เป็น 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 222.7% จากปีก่อน และปรับรายได้ปี 64 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 3,796 ล้านบาท แต่ปรับต้นทุนและ SG&A ลง ปรับกำไรขึ้นจากเดิม 8.9% เป็น 220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากปีก่อน

ขณะที่ นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ WICE กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานปี 64 จะเป็นปีแห่งการเติบโตทำ “นิวไฮ” ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้เติบโต 3,800 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรสุทธิประมาณ 6% เนื่องจากลงทุนขยายการให้บริการและบริหารจัดการที่ดีของ WICE และเครือข่ายโลจิสติกส์

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ ประกอบด้วย 1. มุ่งเน้นเพิ่มความสามารถการทำกำไรให้สูงขึ้นจากธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งข้ามชายแดน (Cross Border Services) ภายใต้การบริหารงานของบริษัทร่วมทุน ETL โดยบริษัทมีการทยอยลงทุนสั่งซื้อตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มประมาณ 200 ตู้ คาดว่าจะสามารถรับตู้ได้ครบจำนวนภายในไตรมาส 2/64 หลังจากที่ผ่านมาภาวะตู้คอนเทนเนอร์ขาดตลาด ทำให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศหันมาใช้บริการ Cross Border เพิ่มขึ้น

2.วางแผนขยายฐานลูกค้าไปยังอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์ เนื่องจากบริษัทเห็นความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์ จากการรองรับ 5G ที่ขยายตัวมากในเอเชีย และอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวจากค่ายรถยนต์ปรับโมเดลใหม่ รองรับระบบไฟฟ้า

3.ขยายฐานลูกค้าที่ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยการนำเสนอโซลูชั่นแพ็คเกจการให้บริการขนส่งวัตถุดิบและอุปกรณ์เครื่องจักรให้กับโรงงานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

4.เน้นกลยุทธ์ให้คำแนะนำลูกค้า ผ่าน WICE Supply Chain Solutions Co.,Ltd. (บริษัทย่อย) ให้บริการด้าน Supply Chain ครบวงจร ทั้งงานคลังสินค้า การกระจายสินค้า การขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี จากการขยายตัวของปริมาณงานบริหารจัดการคลังสินค้า และการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างโครงข่ายพันธมิตรโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมการบริการขนส่งทุกรูปแบบ ทั้งการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า ผ่านการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายสาขาของ WICE ทั้งหมด โดยมุ่งเน้นตลาดจีนเป็นหลัก

Back to top button