CPF ผนึก “กรมป่าไม้-ชุมชน” ฟื้นฟูทรัพยากรฯ ป่าต้นน้ำ จ.ลพบุรี

CPF ผนึกกำลังกับกรมป่าไม้และชุมชน ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าต้นน้ำ โดยสานต่อโครงการ ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง โดยมีเจ้าหน้าที่ของ CPF ติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด


บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าร่วมโมเดลความสำเร็จของความร่วมมือ 3 ประสาน โดยมี ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ของโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งมีกรมป่าไม้ ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ซึ่งเข้าร่วมดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2559 ด้วยเป้าหมายเดียวกันในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ปัจจุบัน ผืนป่าแห่งนี้ เป็นต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูป่า

โดยการดำเนินโครงการระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563 สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่เขาพระยาเดินธงได้รวม 5,971 ไร่ ซึ่งจากการเป็นป่าเขาหัวโล้นสู่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ เข้าสู่การดำเนินงานระยะที่สองตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2568 มีเป้าหมายยอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่ป่าที่ปลูกใหม่เพิ่มเป็น 7,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ นายจิระศักดิ์ ชูความดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมคณะผู้บริหารของกรมป่าไม้ รวมทั้งหมดจำนวน 15 คน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า โดยมี คุณภูมินภ์ห์ บุญบันดาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 จังหวัดสระบุรี พร้อมด้วย คุณถนอมพงษ์ สังข์ธูป เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน กรมป่าไม้ และคุณสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง CPF และคณะทำงานโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ร่วมให้ข้อมูลถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่

รองอธิบดีกรมป่าไม้ ระบุภายหลังจากการตรวจเยี่ยมโครงการฯว่า โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นโครงการแรกที่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน โดยที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการสำรวจพื้นที่ ศึกษารูปแบบการปลูกป่า วางแผนการปลูกป่า การดูแลให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต จนถึงกระบวนการเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ CPF ติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างจริงจัง และผืนป่าที่นี่ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับการฟื้นฟูป่าในพื้นที่อื่นๆ โดยใช้รูปแบบการปลูกป่า 4 รูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นอกจากนี้ การที่ CPF เข้ามาช่วยดูแลการปลูกป่า มีการจัดการเรื่องระบบน้ำเพื่อช่วยให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต เป็นการช่วยเพิ่มอัตรารอดของต้นไม้ เพราะหากปล่อยให้ต้นไม้เติบโตเองตามธรรมชาติ เป็นเรื่องยากที่จะมีอัตรารอดเกือบ 100 %

“ขอบคุณ CPF ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และอยากเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมากในการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราช่วยกันปลูกป่าเยอะๆ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้จะช่วยกักเก็บคาร์บอน ส่งผลให้อากาศบริสุทธิ์ ผืนป่าที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ก็จะส่งผลให้ระบบนิเวศดีขึ้นตามไปด้วย” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

โดยโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ความสำเร็จของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า จากความร่วมมือ 3 ประสาน นอกจากเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ CPF ยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของป่าให้กับหน่วยงานต่าง สถานศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า

ขณะเดียวกัน CPF ยังได้ต่อยอดสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยส่งเสริมชุมชนเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สะอาดและปลอดภัย ดำเนินโครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ ส่งเสริมคนในชุมชนปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเอง และนำผลผลิตขายเพื่อสร้างรายได้เสริม จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามวิถีภูมิปัญญาชุมชน

โดยปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 8 หมู่บ้านโครงการ และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน เป็นโครงการที่บริษัทให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาแก่ชุมชน เช่นวิธีการอนุบาลปลา เพื่อให้ปลาแข็งแรงและเติบโตได้ขนาดก่อนปล่อยลงกระชัง ช่วยเพิ่มอัตรารอดของปลาที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน สามารถเป็นแหล่งอาหารครอบคลุมชุมชน 11 หมู่บ้าน หรือมากกว่า 300 ครัวเรือน สนับสนุนชุมชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมดูแลผืนป่าในพื้นที่

Back to top button