“พาณิชย์” ชี้ยานยนต์ไฟฟ้ากระแสบูม แนะผู้ประกอบการ สร้างพันธมิตร เพิ่มโอกาสการค้า-ลงทุน

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ชี้ยานยนต์ไฟฟ้ากระแสบูม แนะผู้ประกอบการ สร้างพันธมิตร เพิ่มโอกาสการค้า-ลงทุน


นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกระแสความต้องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลกว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สอดรับกับนโยบายรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ประกอบกับมีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยสามารถมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ ตั้งแต่การผลิตและการค้ายานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ไปจนถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น สถานีชาร์จ ธุรกิจซ่อมบำรุง และธุรกิจซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ถือเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เอง นอกจากการเชื่อมโยงภาคเอกชนจากประเทศผู้ผลิตหลักกับผู้ประกอบการไทย เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจเพื่อผลิตสินค้า ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จำเป็นแล้ว ยังสามารถมีบทบาทในการผลักดันการเจรจาความตกลงทางเศรษฐกิจการค้าเพื่อเปิดตลาดสำคัญและเชื่อมโยงการลงทุนกับประเทศผู้ผลิต

อีกทั้ง ส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ ไปยังคู่ค้าสำคัญและตลาดอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มต้องการยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับตลาดศักยภาพต่าง ๆ เช่น เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้) เอเชียใต้ (อินเดีย) ออสเตรเลีย อาเซียน (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และสหรัฐฯ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่ไทยผลิตได้ เช่น จักรยานยนต์ (จีน อินเดีย) รถโดยสารประจำทาง (จีน อินเดีย ยุโรป) ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการด้านแบตเตอรี่ การซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า ธุรกิจแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการผลิตและการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐและข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย

จากรายงานของสำนักงานพลังงานสากล ในปี 2562 ทั้งโลกมียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) ที่ใช้ทั้งน้ำมันและแบตเตอรี่แบบเสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้าได้ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และแบบใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว (Battery Electric Vehicle: BEV) รวมประมาณ 2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6 และมียอดจดทะเบียนทั้งโลกรวม 7.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 40

และยังคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ทั่วโลก (รวมรถยนต์ขนส่งบุคคล รถขนส่งเชิงพาณิชย์ รถประจำทาง และรถบรรทุก) จะสูงถึงประมาณ 25 ล้านคัน และมียอดสะสมประมาณ 140 ล้านคัน โดยคาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมียอดจำหน่ายและจำนวนสะสมสูงสุด และตลาดที่จะขยายตัวชัดเจน คือ จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และอินเดีย นอกจากนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต

สนค. ได้วิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างการค้าของโลกและไทยกลุ่มสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท คือ PHEV (พิกัด 870860, 870870) BEV (พิกัด 870380) และ HEV หรือยานยนต์ไฮบริดแบบไม่มีที่เสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้า (พิกัด 870340, 870350) และกลุ่มชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก 20 รายการ (ตามรายงานการศึกษาของสถาบันยานยนต์) พบว่า ในปี 2562 การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของทั้งโลกมีมูลค่ารวม 70,817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 55

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของโลกอยู่ที่ 450,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.45 โดย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (เป็นผู้ผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน) รวมทั้งเป็นตลาดผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพ

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2562 ส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า (HEV, PHEV และ BEV) เป็นมูลค่า 128.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงจากปีก่อน 69% แต่กลับมาขยายตัวถึง 155% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จนมีมูลค่า 309.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกรถ HEV ไปตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ สำหรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทย มีมูลค่า 6,887 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 และ 4,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6% และ 22% ตามลำดับ) โดยตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน แสดงให้เห็นว่า ไทยยังคงเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

แต่การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไปยังผู้ผลิตและตลาดสำคัญของโลกอย่างญี่ปุ่น จะเป็นโอกาสให้ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลกมากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนก็เร่งพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนชั้นนำ และเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก และกลุ่มประเทศอาเซียน (เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) ที่ต้องการผันตัวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับไทย ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมธุรกิจและระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาความสามารถในการดึงดูดการลงทุน และทำให้เป็นได้ทั้งฐานการผลิตและตลาดที่มีศักยภาพ โดยแสวงหาพันธมิตรผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลก

ขณะเดียวกันภาครัฐต้องอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ และส่งเสริมการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสในประเทศใหม่ ๆ เช่น เม็กซิโก ที่สามารถเข้าตลาดสหรัฐฯ ผ่านความตกลง USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือ เยอรมนี เพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป ตลอดจนพิจารณาการลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเดิมเพื่อรักษาฐานลูกค้า และลดความเสี่ยงกรณีที่ค่ายรถจากประเทศอื่นเข้าไปลงทุนผลิตและจำหน่ายในตลาดเหล่านั้น

Back to top button