SUN จับมือ “ม.แม่โจ้” ศึกษาเกษตรสมัยใหม่ – พัฒนาสายพันธุ์ “กัญชง”

SUN ร่วมลงนามกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนวิจัยการเกษตรสมัยใหม่ พร้อมพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอาหาร


เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อร่วมมือในการสนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ สู่การขับเคลื่อนการเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะให้บริการทางวิชาการกับบริษัท โดยสนับสนุนนักวิจัยและนักวิชาการในสังกัด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้คำปรึกษา เกี่ยวกับระบบการทำการเกษตรสมัยใหม่ ฟาร์มอัจฉริยะและนวัตกรรมเกษตร นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรการทำเกษตรอินทรีย์ และการปลูกพืชมูลค่าสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มุ่งสร้างและพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเกษตร และวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สังคม

ด้าน ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUN เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ SUN เห็นชอบตรงกันถึงประโยชน์ ของการร่วมมือทางวิชาการ เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการเกษตร และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการเพาะปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น พืชสมุนไพร กัญชง และกระท่อม การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มาช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร

โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็นเลิศทางการเกษตรในระดับนานาชาติ มีนักวิจัยและนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม การถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้แก่บริษัทในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง และช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาการเกษตรอื่น ๆ ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ร่วมเปิดโครงการร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโครงการศึกษาสารพันธุกรรมและลักษณะทางกายภาพของกัญชง เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก และการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอาหาร

โดยครอบคลุมถึงการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการนำมาต่อยอดสู่ผลิตสินค้าต่างๆ ของบริษัทในอนาคต ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ ในการนำเอาความรู้มาประยุกต์ใช้จริง รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านการเกษตรต่อไป

Back to top button