อัยการคดีพิเศษ จ่อยื่นศาลขอริบทรัพย์ “ชนินทร์” ในคดี STARK อีก 3 พันล้าน

“อธิบดีอัยการคดีพิเศษ” เตรียมยื่นศาลขอริบทรัพย์ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตผู้บริหาร STARK อีกกว่า 3 พันล้านบาท หวังเยียวยาผู้เสียหายเพิ่มเติม พร้อมร่วมมือ “ศาลแพ่ง-ปปง.” เชื่อมโยงข้อมูลคดีฟอกเงินระหว่างหน่วยงาน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในสำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รายคดี นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กับพวก ในคดีฉ้อโกงประชาชนหุ้น STARK  ว่า สำหรับคดีนี้สำนักงาน ปปง.เคยส่งสำนวนคดีหุ้น STARK มาให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน 16 รายการ มูลค่า 355 ล้านบาท

โดยมีความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกง หรือการกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยพฤติกรรมเกี่ยวกับการแต่งบัญชีหรืองบการเงินอันเป็นเท็จ ให้มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งประชาชนหลงเชื่อเข้ามาลงทุนในเบื้องต้นได้รับค่าตอบแทนสูงตามที่โฆษณาชวนเชื่อจริง แต่พอมีผู้ลงทุนเข้ามามากก็ไม่สามารถที่จะได้รับค่าตอบแทนอย่างที่กล่าวอ้างได้ เนื่องจากไม่มีผลกำไรอย่างที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้ชวน

นายวิรุฬห์ กล่าวว่า ในคดีที่ได้ส่งมาในครั้งแรก พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำ ความผิดในมูลฐานดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลข ฟ.14/2567 ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ขอยึดอายัดไว้ชั่วคราว และขอให้ริบตกเป็นของแผ่นดินในครั้งนั้นมี 16 รายการ มูลค่า 355 ล้านบาท ซึ่งตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและดำเนินคดีในชั้นศาล

นายวิรุฬห์ กล่าวต่อว่า วันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ส่งเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ ในคดีเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาให้สำนักงานคดีพิเศษ เนื่องจากสามารถตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในมูลฐานเดียวกัน ในพฤติการณ์เดียวกันเพิ่มเติม และคณะกรรมการธุรกรรมของสำนักงาน ปปง. ก็มีการสั่งให้ยึดอายัดไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 ก.พ.67 รวมทั้งหมด 14 รายการ เป็นเงิน 2,890 ล้านบาท เมื่อรวมทรัพย์สินในคดีเดิมและที่ส่งมาเพิ่มเติมแล้วทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,245 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงค่าเสียหายที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงจากความผิดมูลฐานดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท

โดยในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษจึงมีคำสั่งให้ส่งเรื่องเพิ่มเติม พร้อมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการคณะทำงานชุดเดิม เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ริบไว้ชั่วคราว ตกเป็นของแผ่นดินภายในระยะเวลา 90 วันนับตั้งแต่ที่มีคำสั่งหยุดอายัดไว้ชั่วคราวตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษเราจะต้องพิจารณาและยื่นคำร้องให้ทันภายในวันที่ 12 พ.ค. 67

ส่วนจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของผู้เสียหายที่มีโอกาสได้ทรัพย์สินคืนหรือไม่นั้น นายวิรุฬห์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาให้ผู้เสียหายใช้สิทธิขอคืนจำนวนเงินความเสียหายที่ตนได้รับผ่านทางสำนักงาน ปปง.ได้ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา หลังจากที่มีการยึดอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว ซึ่งสำนักงาน ปปง.จะพิจารณาว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเท่าไหร่ และขอให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคืนให้กับผู้เสียหายตามอัตราส่วนที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้รับ ตามจำนวนความเสียหายของตน

นายวิรุฬห์ กล่าวอีกว่า ในช่องทางนี้จะต้องยื่นภายใน 90 วันตามที่บอก แต่ถ้าพ้นระยะยื่นไม่ทันที่สำนักงาน ปปง. ผู้เสียหายสามารถยื่นผ่านศาลได้โดยตรง หากศาลมีคำสั่งให้มีการคืนกับผู้เสียหายรายใดเป็นจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อคดีเสร็จสิ้นสำนักงาน ปปง.จะคืนให้ตามอัตราส่วนของความเสียหายที่แต่ละคนได้รับหลังจากคดีถึงที่สุด แล้วก็จะได้รับคืนค่าเสียหาย

“กรณีที่ยึดอายัดทรัพย์สินได้ไม่เต็มจำนวนของความเสียหายก็ต้องเฉลี่ยกันไปตามอัตรา ซึ่งพนักงานอัยการด้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาล ไม่ว่าจะขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือให้คืนให้กับผู้เสียหายตามที่ได้ขอคุ้มครองสิทธิผ่านทางสำนักงาน ปปง.โดยรวดเร็ว” นายวิรุฬห์ กล่าว

สำหรับคดีนี้เนื่องจากค่าเสียหายที่ถูกฉ้อโกง หรือกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวมีประมาณ 14,000 ล้านบาท แต่ทรัพย์สินที่อายัดชั่วคราวได้จากผู้ถูกกล่าวหาที่ทำความผิดมูลฐานมีจำนวนทั้งสิ้นในสองคดีของ ปปง. และอัยการมีจำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท ยังขาดอยู่อีก 10,000 ล้านบาทเศษ ถ้าสมมุติว่าสำนักงาน ปปง.ตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมอีกก็จะสามารถดำเนินการเช่นเดียวกับในครั้งล่าสุด ที่ส่งเอกสารเพิ่มเติมมาเพื่อขอให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้อีก

นายวิรุฬห์ กล่าวว่า ส่วนคดีอาญาหุ้น STARK ตอนนี้พนักงานอัยการคดีพิเศษยื่นคำฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลไปแล้ว มีนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย. 67 หลังจากนั้นศาลและคู่ความจะนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป ซึ่งทั้งในคดีอาญาและคดีฟอกเงินที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์ หรือขอคืนให้กับผู้เสียหายมันก็จะแยกพิจารณาออกจากกันในแต่ละส่วน ในคดีของอาญาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน

สำหรับความก้าวหน้าทางความร่วมมือเรื่องฟอกเงินว่า สำนักงานอัยการคดีพิเศษได้ทำความร่วมมือระหว่างศาลแพ่งและสำนักงาน ปปง. ซึ่งผู้บริหารแต่ละหน่วยงานได้เข้าประชุมกัน เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการใหม่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานทางอิเล็กทรอนิกส์ คล้ายๆ กับระบบซีออส (CIOS) ที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำอยู่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ในเรื่องความรวดเร็วความประหยัดในการดำเนินคดี

ทั้งนี้ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วย เนื่องจากคดีฟอกเงินกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคมเป็นจำนวนมาก จึงต้องให้มีการดำเนินคดีตามวิวัฒนาการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวซึ่งก็จะมีตัวอย่าง เช่น สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในการยื่นคำร้องต่อศาล โดยอัยการขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำความผิดตกเป็นแผ่นดิน การยื่นคำร้องขอทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหลังจากมีการไต่สวนสืบพยานกันในชั้นศาล จนกระทั่งศาลได้มีคำสั่ง

โดยกระบวนการเหล่านี้สามารถทำผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการเชื่อมโยงข้อมูลคล้ายๆ กับระบบของศาล CIOS แทนที่จะใช้เอกสารส่งในชั้นศาล ก็จะใช้ส่งเอกสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ในการถ่ายเอกสารเป็นจำนวนมาก อีกทั้งคู่ความไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ศาล ทำให้เกิดความรวดเร็วและทำให้คดีที่ค้างอยู่น้อยลง แทบจะไม่มีคดีค้างโดยไม่จำเป็นอีก

นายวิรุฬห์ กล่าวอีกว่า ส่วนจะเริ่มใช้จริงได้เมื่อไหร่นั้น จากที่ได้ประชุมร่วมกันวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็ประสานงานความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เบื้องต้นหลังจากประชุมครั้งแรก และชั้นต่อไปแต่ละหน่วยงานจะจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กขึ้นเพื่อประสานงานกันประชุมกัน เพื่อหาข้อเสนอแนะหรือปัญหาอุปสรรคต่างๆ เข้ามาศึกษากัน พอหลังจากทุกอย่างไฟนอลแล้ว มีการตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานแล้ว สำนักงานคดีพิเศษจะจัดให้มีการประชุมและหารือกันเกี่ยวกับระบบนี้ ระหว่างพนักงานอัยการทั้งหมดในสำนักงานคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ด้วยเพื่อรองรับการใช้ระบบดังกล่าว ซึ่งต่อไปก็อาจมีการจัดสัมมนาระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับระบบนี้ต่อไป

Back to top button