
เปิดวิสัยทัศน์! “องอาจ” นายกสมาคม TFPA ปั้นไทยสู่ฮับอาหารอนาคต ดันส่งออก 2 ล้านลบ. ปี 70
“องอาจ กิตติคุณชัย” นายก TFPA ชูวิสัยทัศน์ดันไทยสู่ศูนย์กลางอาหารอนาคตอาเซียนภายในปี 2570 เดินหน้ายุทธศาสตร์ Food Innovation & Technology ฝ่าวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์-กำแพงภาษี ตั้งเป้าส่งออกแตะ 2 ล้านล้านบาท
ดร. องอาจ กิตติคุณชัย นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) เปิดเผยว่า ในสมัยการบริหารงานปี 2568 – 2570 ถือว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหากำแพงภาษีภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรง นับเป็นความท้าทายที่ทางภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารไทยจะต้องเร่งปรับตัวและกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งจากสถิติการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 มีมูลค่า 1,638,445 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ถือเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของสินค้าอาหาร ด้วยความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร โดยแผนงานของสมาคมฯ ในสมัยการบริหารนี้จะได้มุ่งเน้นนโยบายนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร (Food Innovation & Technology) พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตให้ขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพื่อดันมูลค่าการส่งออกให้ได้ถึง 2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570
ทั้งนี้ ในฐานะผู้แทนของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ปี 2568 – 2570 จะเป็นผู้นำขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสำเร็จรูปสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทย และยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารอนาคตแห่งอาเซียนภายในปี 2570
ดร.องอาจ กล่าวว่า เบื้องต้นได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 5 ด้านได้แก่ 1.) การสร้างความแตกต่างและนวัตกรรม ที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม และใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.) การขยายตลาดและกระจายความเสี่ยง เน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ กระจายแหล่งวัตถุดิบและตลาดส่งออก ตลาดเป้าหมาย 3.) การเสริมสร้างความยั่งยืนและรับผิดชอบ หรือ ESG ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสีย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่การผลิต 4.) การพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ได้แก่ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนใน R&D เพื่อพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารจากพืช และอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และ 5.) การสร้างความร่วมมือและผลักดันนโยบาย ที่จะนำเสนอประเด็นเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม
“กรณีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกอบกับปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังมีต้นทุนสูงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะจีน และสหรัฐฯ ขณะที่สิงคโปร์กำลังพัฒนาอาหารอนาคต เช่น โปรตีนทางเลือก ทำให้ไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรมเพื่อรักษาส่วนแบ่ง ไม่รวมถึงระเบียบสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน ซึ่งเพิ่มต้นทุนให้ผู้ส่งออก กฎหมายสิ่งแวดล้อมและ Carbon Tax ในตลาดยุโรปที่เพิ่มภาระผู้ผลิตในอนาคต” ดร.องอาจ กล่าว
ดร. องอาจ กล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยอยู่ที่ประมาณ 375,000 ล้านบาท เติบโต 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 4 – 5% อันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงินและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาพรวมการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในครึ่งปีหลัง 2568 คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความต้องการอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก
โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารอนาคต (Future Food) เช่น โปรตีนทางเลือกและอาหาร Functional ตลาดหลักได้แก่ สหรัฐฯ อาเซียน และสหภาพยุโรปยังคงเป็นจุดหมายสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอย่างอาหารทะเลกระป๋อง ซอสและเครื่องปรุงรส และอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีแนวโน้มเติบโตสูง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อการเติบโตในบางเซกเมนต์
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักที่ยังคงมีความต้องการสูงคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอาหารแปรรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง และเครื่องปรุงรสที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย อัตราการเติบโตในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 7 – 8% ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย
โดยภารกิจหลักของ TFPA คือ การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสำเร็จรูป ปรับตัวในด้านนวัตกรรมการผลิต การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร ประสานความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกมากว่า 230 บริษัท ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตสับปะรด กลุ่มผู้ผลิตทูน่าและอาหารทะเล กลุ่มผู้ผลิตผักและผลไม้ กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน และ กลุ่มผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทาน