สแกนงบ 3 หุ้น “ยาง” กวาดกำไร Q1 ทะลัก 1.43 พันล้าน จับตาไตรมาส 2 โตต่อรับดีมานด์พุ่ง

กลุ่มหุ้นยางไตรมาส 1/68 โตเด่น NER–STA–TEGH โชว์กำไรพุ่งตามราคายางขาขึ้น พร้อมรับแรงหนุนอุปทานหายจากการชะลอกรีดยาง ดันราคาตลาดโลกคึกคัก


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มยาง ประกอบด้วย บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH หลังพบว่าในช่วงไตรมาส 1/2568 ที่ผ่านมา รายงานผลการดำเนินงานออกมาเติบโตอย่างโดดเด่นรวมกว่า 1.43 พันล้านบาท

สำหรับ NER รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 มีปริมาณขาย 127,090 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ10.88 คิดเป็นรายได้จากการขายรวม 8,698.02 เพิ่มขึ้น 2,156.17 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 32.96% แบ่งเป็นรายได้จากการขายในประเทศ 6,077.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 69.87% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 1,207.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.81% และรายได้จากการขายต่างประเทศ 2,620.56 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 30.13% ของยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 948.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 56.71%  ส่งผลให้ไตรมาส 1 /2568 มีกำไรสุทธิ 608.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 155.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34.22%  เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี2567

โดยรายได้จากการขายเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ราคายางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนนั้น ราคายางเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19.90% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็นผลต่างด้านราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1,443.66 ล้านบาท และแบ่งเป็นผลต่างด้านปริมาณเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 711.74 ล้านบาท

นอกจากนี้ในไตรมาส 1/2568 ด้านผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น บริษัทมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการรับชำระหนี้จากลูกหนี้ต่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง 13.25 ล้านบาท และมีกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการวัดมูลค่าตราสารอนุพันธ์ที่บริษัทฯซื้อไว้เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 27.57 ล้านบาท ซึ่งสุทธิแล้วในภาพรวมบริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 14.33 ล้านบาท

ส่วนของแผนการลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานยางแท่งเฟสที่ 3 (STR3) บริษัทฯ ยืนยันความพร้อมในการดำเนินโครงการ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการปรับพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พิจารณาที่จะชะลอการดำเนินการก่อสร้างออกไปก่อน เพื่อประเมินความชัดเจนของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษี (Reciprocal Tariffs) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในนโยบายการขยายกำลังการผลิต เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจยาง

สำหรับ STA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 เติบโตดีอย่างต่อเนื่อง มีรายได้จากการขายและบริการ 34,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และพลิกมีกำไรสุทธิ 689 ล้านบาท จากขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 19.4% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ มีรายได้พิเศษจากดอกเบี้ยรับคืนจากเงินกู้ระยะยาวจำนวน 483 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย ทำให้ภาพรวมกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

โดยปัจจัยหลักของการเติบโตมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) ราคายางธรรมชาติและถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น โดยราคายางแท่ง TSR20 ณ ตลาด SICOM ไตรมาส 1/2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 197 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 13% จากราคาเฉลี่ยทั้งปี 2567 ที่ 174 เซนต์ต่อกิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีราคาเฉลี่ย 196 เซนต์ต่อกิโลกรัม และ 2) ปริมาณการขายยางธรรมชาติรวมทุกประเภทที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 ไตรมาสอยู่ที่ 396,955 ตัน เติบโต 24.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวเป็นยอดขายจากการส่งมอบยาง EUDR ราว 43,000 ตัน สะท้อนถึงดีมานด์ที่มีต่อเนื่องแม้ชะลอตัวบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ร้อยละ 9.1 จากร้อยละ 7.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 7.5 จากไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับ TEGH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 มีรายได้รวมจำนวน 5,667 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 176 ล้านบาท โดยกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ จำนวน 4,988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,660 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการผลิตและจำหน่ายยางแท่ง จำนวน 4,774 ล้านบาท และรายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำยางข้น จำนวน 214 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ มีรายได้ 610 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 265 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ธุรกิจพลังงานทดแทนและบริหารจัดการกากอินทรีย์มีรายได้รวม 64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 141 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคิดเป็นรายได้จากการบริหารจัดการกากอินทรีย์ จำนวน 29 ล้านบาท ก๊าซชีวภาพ จำนวน 29 ล้านบาท และรายได้จากกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จำนวน 6 ล้านบาท

สำหรับทิศทางธุรกิจสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ ยังคงตั้งเป้าปริมาณขายยางแท่งในปีนี้อยู่ที่ 250,000-280,000 ตัน โดยยังคงสัดส่วนยอดขายยางแท่งมาตรฐาน EUDR ที่ร้อยละ 30-40 ในครึ่งปีแรก และมากกว่าร้อยละ 50 ในครึ่งปีหลัง เครื่องจักรผลิตยางแท่งไลน์ใหม่ที่แล้วเสร็จในปลายปีที่แล้ว จะใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ในปีนี้ พร้อมพิจารณาขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มยาง ยังได้ปรับผลบวกจากประเด็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ คณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง ได้ร่วมกันออกมาตรการขอความร่วมมือให้เกษตรกรชะลอการเปิดฤดูกาลกรีดยางออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดเริ่มกรีดในเดือนพฤษภาคม 2568 เลื่อนเป็นเดือนมิถุนายน 2568 แทน

โดยการชะลอกรีดยางนี้คาดว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตยางหายไปจากตลาดโลกไม่ต่ำกว่า 300,000 ตัน อ้างอิงราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ที่กิโลกรัมละ 72.04 บาท (ตามประกาศราคายางจากฝ่ายเศรษฐกิจการยาง กยท. ณ วันที่ 3 เมษายน 2568) คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 14,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาวการณ์ลดลงของอุปทานในช่วงเวลาดังกล่าว สร้างแรงกดดันต่อสมดุลตลาดยางโลก จนทำให้เกิดความกังวลว่าซัพพลายอาจไม่เพียงพอในอนาคต ผู้ซื้อที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าจึงเร่งซื้อยางเพื่อเก็บไว้ส่งมอบ ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดยางกลับมาคึกคักอีกครั้ง

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเลื่อนการเปิดกรีดยางออกไป เกษตรกรชาวสวนยางสามารถใช้เวลานี้ในการดูแลบำรุงรักษาต้นยางให้แข็งแรงและพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาลใหม่

ขณะที่ กยท. เตรียมให้การสนับสนุนผ่านโครงการสินเชื่อระยะสั้น โดยใช้งบจากกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 (3) เพื่อช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ให้สามารถจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย วัสดุอุปกรณ์ และส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตยางพารา ในโครงการนี้ สถาบันเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อได้ 1 สัญญาต่อ 1 สถาบัน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนาน 4 เดือน ซึ่งจะเริ่มเปิดให้เข้าร่วมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

Back to top button