
“ภูมิใจไทย-เนวิน” รอด! ศาล รธน. ไม่รับคำร้องปมฮั้ว สว. เหตุมีหน่วยงานตรวจสอบแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ตีตกคำร้อง นายณฐพร โตประยูร ปมกล่าวหา กกต.-พรรคภูมิใจไทย และ "เนวิน ชิดชอบ" เอื้อประโยชน์จัดเลือกตั้ง ส.ว. ระบุไม่เข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จึงไม่มีเหตุวินิจฉัยต่อ และมีหน่วยงานอื่นตรวจแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (1 ก.ค.68) ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี เรื่องพิจารณาที่ 16/2568 กรณีนายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 อ้างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3) กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 4) สมาชิกวุฒิสภา รายชื่อปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 5) นายเนวิน ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 6) นางกรุณา ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 7) นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ กับพวก (ผู้ถูกร้องที่ 8) นายศุภชัย โพธิ์สุ (ผู้ถูกร้องที่ 9) นางสาววาริน ชิณวงศ์ (ผู้ถูกร้องที่ 10) นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ (ผู้ถูกร้องที่ 11) และนายสุบิน ศักดา (ผู้ถูกร้องที่ 12) ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
ผู้ถูกร้องที่ 3, 4, 6 และ 7 เป็นผู้วางแผนและควบคุมกระบวนการทุจริตในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ส่งผลให้มีผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 138 คน และสำรองอีก 2 คน โดยการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และอาจถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ถูกร้องที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 12 เป็นผู้ดำเนินการตามแผนการทุจริตในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ถูกร้องที่ 5 ได้เข้าดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา โดยการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวขาดความเป็นกลางทางการเมือง ขาดความสุจริต และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย
การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 มีความเชื่อมโยงและประสานสอดคล้องกันเป็นกระบวนการร่วมกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยมิชอบ อันมีเป้าหมายเพื่อใช้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอภิปรายแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาและความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบและดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย