
ทูตไทยขึ้นเวที UNSC โต้ข้อกล่าวหา “กัมพูชา” จับตาท่าทีสมาชิก 15 ประเทศ
ทูตไทยประจำยูเอ็นเตรียมแจงเวทีประชุมลับ UNSC ย้ำจุดยืนไทย หลัง “กัมพูชา” ยื่นหนังสือกล่าวหาไทยรุกรานชายแดน ขณะสมาชิก UNSC 15 ประเทศร่วมรับฟังข้อมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 ก.ค.68) เวลา 11:51 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีฝ่ายกัมพูชาส่งหนังสือประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ขอให้จัดการประชุมด่วน เพื่อยุติเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายรุกรานอธิปไตยกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง”

ฝ่ายไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือถึง UNSC เช่นกัน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งไทยมีหลักฐานว่าฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน และมีการใช้ความรุนแรงจนพลเรือนฝ่ายไทยเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ถือเป็นการรุกรานอธิปไตยไทยอย่างชัดเจน หนังสือดังกล่าวยังขอให้ประธาน UNSC เวียนหนังสือของฝ่ายไทย เป็นเอกสารของ UNSC ทางการ เพื่อให้สมาชิกทุกประเทศได้รับทราบ
โดยขณะนี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และได้พบกับผู้แทนของประเทศปากีสถาน (ประธาน UNSC เดือนกรกฎาคม) ผู้แทนของประเทศปานามา (ว่าที่ประธาน UNSC เดือนสิงหาคม) รวมถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงจุดยืนและนำเสนอข้อเท็จจริงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ของฝ่ายไทยอย่างต่อเนื่อง
นางมาระตี กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดทราบว่าวันนี้เวลา 15:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ นครนิวยอร์ก UNSC จะจัดประชุมแบบปิด เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
“การประชุมในลักษณะนี้จัดขึ้นเป็นปกติ เมื่อมีเหตุการณ์ปะทะระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นทั่วโลกตรงจุดไหนก็ได้ก็แล้วแต่…และไม่ใช่เป็นการประชุมเพื่อลงมติใด ๆ แต่เป็นเพียงการหารืออย่างไม่เป็นทางการ แล้วก็เชิญคู่กรณี พร้อมกับสมาชิก 15 ประเทศ ทั้งสมาชิกถาวรและไม่ถาวร ของ UNSC เพื่อให้รับทราบข้อมูล” รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
สำหรับคู่กรณีคือไทยและกัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยจะมี นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้นำคณะ พร้อมทีมงานสนับสนุน ซึ่งได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
“อย่างมากอาจจะมีแถลงการณ์เพิ่มเติม ไม่ใช่มติของที่ประชุม เพื่อจะเรียกร้องให้ยุติการปะทะกันโดยเฉพาะเป้าหมายพลเรือน ตามหลักสากลสำคัญของที่ประชุมที่อาจจะเป็นไปได้” รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
นางมาระตี กล่าวอีกว่า นายมาริษมีกำหนดการเดินทางกลับถึงประเทศไทยคืนนี้ และคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดถึงการชี้แจงต่าง ๆ กับองค์กรระดับโลกต่อสื่อมวลชน
เปิดเอกสาร: ไทยส่งหนังสือถึง UNSC แจ้งพฤติกรรมรุกรานของกัมพูชา
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้มีหนังสือถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา โดยมีเนื้อหาดังนี้
ผมขอแจ้งให้ท่านและสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทุกท่านทราบถึงสถานการณ์อันร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย อันเป็นผลจากการรุกรานทางทหารของประเทศกัมพูชา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 16 และ 23 กรกฎาคม 2568 ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารไทยกำลังลาดตระเวนตามเส้นทางปกติที่กำหนดไว้ ซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศไทย ทหารได้เหยียบทุ่นระเบิดชนิด PMN-2 ส่งผลให้ทหาร 2 นาย ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัสส่งผลถึงขั้นพิการถาวร ขณะที่ทหารนายอื่น ๆ ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทุ่นระเบิด PMN-2 ทั้งหมดที่พบอยู่ในสภาพใหม่ ยังมีเครื่องหมายที่มองเห็นได้ชัดเจน หลักฐานบ่งชี้ว่าทุ่นระเบิดเหล่านี้เพิ่งถูกวางใหม่
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ไทยได้ยื่นรายงานประจำปีเกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินการตามพันธกรณีในอนุสัญญาดังกล่าว ตามมาตรา 7 ของอนุสัญญาฯ อย่างต่อเนื่อง รายงานดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดในคลังทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 2546 และต่อมา ได้ทำลายทุ่นระเบิดทั้งหมดที่เก็บไว้เพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยในปี 2562 ในทางตรงกันข้าม รายงานล่าสุดของประเทศกัมพูชาบ่งชี้ว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2568 กัมพูชายังคงเก็บรักษาทุ่นระเบิดชนิด PMN-2 ไว้
2. เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.20 น. ทหารกัมพูชาได้เปิดฉากยิงใส่ฐานทหารไทยที่ตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย ส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 2 นายโดยทันที หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพกัมพูชาได้เปิดการโจมตีดินแดนของประเทศไทยใน 4 จังหวัดโดยไม่เลือกเป้าหมาย ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
การกระทำที่ก้าวร้าว ไม่เลือกเป้า และขัดต่อกฎหมายต่อพลเรือนไทยเหล่านี้ ก่อให้เกิดภัยร้ายแรงและนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์อย่างน่าเศร้า ซึ่งรวมถึงผู้หญิงและเด็ก โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน รวมถึงโรงพยาบาล และโรงเรียนได้รับความเสียหายอย่างมากเช่นกัน ณ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2025 การโจมตีดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย และบาดเจ็บ 24 คน ในจำนวนนี้ 8 คนอาการสาหัส มีประชาชนมากกว่า 102,000 คน ได้รับการอพยพออกจากบ้านของตน
3. การโจมตีด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการยั่วยุใด ๆ ของกองทัพกัมพูชา เป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อมาตรา 2(4) ของ กฎบัตรสหประชาชาติ รวมถึงหลักการแห่งความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างรัฐ
ประเทศไทยได้ใช้ความอดกลั้นและยับยั้งชั่งใจอย่างที่สุด ต่อการโจมตีด้วยอาวุธซึ่งมีการเตรียมการล่วงหน้าโดยกัมพูชา แต่ถูกบังคับให้ใช้สิทธิในการป้องกันตนเองโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรการในการป้องกันตนเองที่ไทยดำเนินการอยู่ในขอบเขตจำกัดเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่การขจัดภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นจากกองทัพกัมพูชาเท่านั้น
4. ประเทศไทยขอประณามอย่างรุนแรงต่อการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายของกัมพูชาต่อพลเรือน ทรัพย์สินของพลเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 18 แห่งอนุสัญญาเจนีวาฯ ฉบับที่หนึ่ง (ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วย – การคุ้มครองโรงพยาบาล) และมาตรา 19 แห่งอนุสัญญาเจนีวาฯ ฉบับที่ 4 (ว่าด้วยการคุ้มครองหน่วยงานและสถานพยาบาล) การกระทำอันไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและความยากลำบากแก่พลเรือนผู้บริสุทธิ์
5. ประเทศไทยยังคงยึดมั่นอย่างแน่วแน่ในหลักการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธี และปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อการใช้กำลังในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ ประเทศไทยขอเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศในการเรียกร้องให้กัมพูชายุติการใช้การสู้รบโดยทันที และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างสุจริตใจ ประเทศไทยขอยืนยันอีกครั้งถึงความพร้อมในการเจรจาผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว รวมถึงคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ซึ่งมีกำหนดการประชุมในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2568 เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งที่ยังคงค้างอยู่
เมื่อพิจารณาถึงความร้ายแรงของสถานการณ์และการกระทำที่ก้าวร้าวอันโจ่งแจ้งของกัมพูชา ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ผมขอแจ้งให้ทราบถึงการกระทำอันก้าวร้าวของกัมพูชา และขอความกรุณาให้เผยแพร่หนังสือนี้ไปยังสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทุกท่านให้รับทราบโดยเร็วที่สุด และนำเข้าสู่ระบบเอกสารของคณะมนตรีความมั่นคงฯ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
(นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์)
เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
UNSC ถกด่วน! ปมขัดแย้งชายแดน “กัมพูชา” ผู้แทนถาวรไทย เตรียมแถลงข้อเท็จจริง
“ภูมิธรรม” แจงประธานอาเซียนเสนอเป็นคนกลางเจรจาหยุดยิง – ย้ำเงื่อนไขอยู่ที่กัมพูชา