ประชุมเฟด 16-17 มี.ค.นี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คาดคงดอกเบี้ย 0.0-0.25% หนุนศก.ฟื้นต่อเนื่อง

ประชุมเฟด 16-17 มี.ค.นี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คาดคงดอกเบี้ย 0.0-0.25% หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-17 มี.ค. นี้ โดยมีมุมมองดังต่อไปนี้

– แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับใกล้ศูนย์ รวมถึงยังคงวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโมเมนตัมฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง ประกอบกับการฉีดวัคซีนมากกว่า 2 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ บรรเทาลงและภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการเป็นปกติได้มากขึ้น

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐแล้ว ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ครอบคลุมการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันมากสุดคนละ 1,400 ดอลลาร์ รวมถึงขยายเวลาของโครงการช่วยเหลือคนตกงานสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ออกไปจนถึงเดือนก.ย.นี้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ในปีนี้

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างเต็มที่ตามเป้าหมายของเฟด โดยแม้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแรงและน่าจะใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนก.พ. ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 6.2% ซึ่งหากนับรวมคนที่ออกจากตลาดแรงงานเนื่องจากล้มเลิกการหางาน ตัวเลขอัตราการว่างงานอาจสูงถึง 10%

– การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะไม่เพิ่มสูงขึ้นไปเกิน 2.0% อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เฟดยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบถอนนโยบายกระตุ้นทางการเงินเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้น ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี จากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนก.พ. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.7% YoY โดยเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ โดยอยู่ที่ 1.3% YoY ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อในภาพรวมยังไม่ได้เร่งสูงขึ้นมากเท่าใดนัก ดังนั้น สัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ร้อนแรงเกินไป (overheating) จึงยังคงมีจำกัด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2/2564 อาจเร่งตัวขึ้นสูงกว่า 2.0% เนื่องจากฐานที่ต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจลดต่ำลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 2.0% ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อน่าจะไม่เพิ่มสูงขึ้นไปเกิน 2.0% อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เฟดจึงยังไม่มีความจำเป็นในการรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

– ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมีการแถลงประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าเฟดจะปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ดีขึ้น และปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฟดน่าจะมีท่าทีระมัดระวังในการสื่อสาร เพื่อไม่ให้ตลาดคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินไป ซึ่งในประมาณการการปรับดอกเบี้ยของเฟด (Fed Dot Plot) น่าจะยังไม่บ่งชี้ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดจะมีมุมมองว่าเฟดอาจใช้มาตรการเพิ่มการถือครองพันธบัตรระยะยาวและลดการถือครองพันธบัตรระยะสั้น (Operation Twist) หรือใช้มาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield curve control) ในระยะข้างหน้า เพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดน่าจะคอยติดตามสถานการณ์โดยชั่งน้ำน้ำหนักถึงข้อดี-ข้อเสียของการนำมาตรการทางเลือกดังกล่าวมาใช้ ในขณะเดียวกันเฟดน่าจะเลือกใช้วิธีการสื่อสารให้ตลาดคลายกังวลว่าแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ มาตรการทางเลือกทั้งสองนี้ต่างกันตรงที่ Operation Twist เป็นการระบุปริมาณการเข้าซื้อขายพันธบัตร ในขณะที่ Yield curve control เป็นการกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเฟดต้องเข้าซื้อขายพันธบัตรจนอัตราผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี แม้ตลาดจะมองว่าเฟดมีทางเลือกเหล่านี้เพื่อตอบโจทย์ Bond yield ที่สูงขึ้น แต่การใช้มาตรการเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลให้เฟดต้องถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในท้ายที่สุด

สำหรับผลกระทบต่อไทย การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมนั้นเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องคอยติดตามสถานการณ์และพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสมต่อไปในระยะข้างหน้า

Back to top button