
“ธนินท์” เตือน “สหรัฐ” อย่าประมาท! เสี่ยงเสียบทบาท “ผู้นำโลก” เอฟเฟกต์เทรดวอร์
ประธานอาวุโสเครือซีพี ห่วงเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก เตือน สหรัฐฯ เสี่ยงเสียบทบาท “ผู้นำโลก” พร้อมหนุนความร่วมมือเอเชีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (13 พ.ค. 68) เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย (Nikkei Asia) สื่อเศรษฐกิจชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยบทสัมภาษณ์ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย วัย 86 ปี ซึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าในปี 2568 โดยเตือนว่า สหรัฐอเมริกาเสี่ยงต่อการสูญเสียความเป็นผู้นำระดับโลก หากประเทศต่าง ๆ ลดการลงทุนและการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยการสัมภาษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568
นายธนินท์ ระบุว่า นโยบายอเมริกัน เฟิร์ส (America First) ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกใช้อย่างไร้ระบบ บั่นทอนพันธมิตร และสร้างความปั่นป่วนให้กับระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่เดิมทีสหรัฐฯ เคยมีบทบาทในการส่งเสริมการค้าเสรี
“เขามีทัศนคติที่ประมาทและวู่วามในเรื่องภาษีนำเข้า” นายธนินท์กล่าวเป็นภาษาจีนกลาง “แม้จะดูเหมือนเป็นชัยชนะในระยะสั้นสำหรับเขา แต่ในระยะยาว สหรัฐฯ ต่างหากที่จะเป็นฝ่ายเสียหาย”
แม้หนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ จะทะลุ 30 ล้านล้านดอลลาร์ แต่นายธนินท์ ยังเชื่อว่า สหรัฐฯ ควรรักษาบทบาทผู้นำเศรษฐกิจโลกไว้ โดยระบุว่า “พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงเป็นหนึ่งในสินทรัพย์การลงทุนที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุด”
“ถ้าเขา (ทรัมป์) คว่ำระบบเศรษฐกิจของโลก แล้วสหรัฐฯ จะรุ่งเรืองได้อย่างไร? ใครจะกล้าลงทุนในหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ?” นายธนินท์ ตั้งคำถาม พร้อมเตือนว่า หากประเทศต่าง ๆ หันมาจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง สหรัฐฯ ก็อาจเผชิญกับการสูญเสียสถานะผู้นำในระยะยาว
นายธนินท์ ยังกล่าวถึงกรณี “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นประเทศผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดในโลกว่า อาจมีอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้า ญี่ปุ่นสามารถส่งสัญญาณได้ว่า หากเศรษฐกิจของตนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ก็อาจต้องลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ลง
อย่างไรก็ตาม สื่อดังกล่าวเสริมข้อมูลว่า กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ได้ออกมาชี้แจงว่า ญี่ปุ่นไม่มีนโยบายใช้การถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือต่อรองทางการค้า
ในมุมของไทย นายธนินท์ ยอมรับว่า มีความเสี่ยงจากภาษีนำเข้าสูงถึง 36% หากไม่ได้รับการยกเว้นจากสหรัฐฯ แต่ชี้ว่า กลุ่มซีพีได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยบริษัทหลักอย่างเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีรายได้จากต่างประเทศถึง 63% ในปี 2024 โดยเฉพาะในเวียดนามและจีน
นายธนินท์ ยังเสนอแนวทางเชิงสร้างสรรค์ โดยแนะให้ญี่ปุ่นใช้โอกาสนี้สนับสนุนประชาคมอาเซียนในฐานะ “ตลาดเดียว” ผ่านการส่งบริษัทการค้าขนาดใหญ่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาค ที่ยังมีศักยภาพเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและประชากร
“แม้ญี่ปุ่นจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ก็ยังเป็นประเทศที่ลังเลจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง” นายธนินท์กล่าว “ญี่ปุ่นตัดสินใจช้า ไม่ชอบเสี่ยง และไม่เต็มใจจะปรับตัวเพื่อรองรับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป”
ในอีกด้านหนึ่ง นายธนินท์ ยังเปิดเผยว่า กำลังให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเกษตรกรรมในญี่ปุ่น พร้อมมองหาความร่วมมือทางเทคโนโลยี โดยชี้ว่า กลุ่มซีพีเองก็กำลังเร่งปรับตัวด้วยนวัตกรรมในทุกภาคธุรกิจ โดยกล่าวว่า นี่คือยุคของนวัตกรรมและการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เราไม่มีทางเลือกที่จะหยุดนิ่ง
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างกลุ่มซีพี กับ “อิโตชู” 1 ใน 7 บริษัทการค้าขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ผ่านการถือหุ้นไขว้ กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อิโตชูประกาศว่า จะขายหุ้นทั้งหมดในซีพีภายในปีงบประมาณ 2569 ขณะที่ซีพีก็มีแผนขายหุ้นในอิโตชูเช่นกัน แต่ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะยังคงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ต่อไป
นายธนินท์ได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ปี 2025 ให้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 528,000 ล้านบาท