ตลท.เปิดกำไร บจ.ปี 63 ลด 53% เซ่นพิษโควิด-ราคาน้ำมันร่วง

ตลท.เปิดกำไร บจ.ปี 63 ลด 53% เซ่นพิษโควิด-ราคาน้ำมันร่วง


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยปี 63 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงาน โดยมีกำไรสุทธิลดลง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดขายลดลง 14.4% จากผลการแพร่ระบาดของ COVID-19 และราคาน้ำมันที่ลดลงแรง อย่างไรก็ดี บจ. ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสสองที่ผ่านมา จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. เปิดเผยว่า บจ.จำนวน 718 บริษัท คิดเป็น 96.2% จากทั้งหมด 746 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานปี 63 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 509 บริษัท คิดเป็น 70.9% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ในปี 63 บจ.มีผลการดำเนินงานปรับลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายรวม 10,675,905 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (core profit) 736,614 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 420,836 ล้านบาท โดยหมวดธุรกิจที่มียอดขายลดลงสูงสุด คือ ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิลดลงสูงสุด คือ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์จากการขาดทุนของ บจ. ขนาดใหญ่ สำหรับหมวดธุรกิจที่ปรับดีขึ้น คือ ธุรกิจเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์

ด้านความสามารถการทำกำไร บจ. มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 20.56% เป็น 21.10% แต่มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลักลดลงจาก 7.31% เป็น 6.90% และมีอัตรากำไรสุทธิลดลงจาก 7.17% เป็น 3.94%

หากไม่รวมหมวดธุรกิจด้านพลังงานฯ และผลขาดทุนของ บจ. ดังกล่าว จะพบว่าภาพรวมในปี 63 บจ. มียอดขายลดลงในอัตราใกล้เคียงกับเศรษฐกิจของประเทศ และมีกำไรลดลงในอัตราที่ไม่สูงมาก สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/63 ดีขึ้นจากไตรมาส 3 ต่อเนื่อง ทั้งยอดขาย กำไรจากการดำเนินงานหลัก และกำไรสุทธิ

สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นปี 63 บจ.ไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ปรับสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 1.35 เท่า มาอยู่ที่ 1.58 เท่า

“การระบาดของไวรัสทำให้ความต้องการอุปโภคบริโคลดลง การท่องเที่ยวและการโรงแรมได้รับผลกระทบหนัก ทำให้ บจ. มีผลการดำเนินงานลดลงเกือบทุกหมวดธุรกิจ แต่รูปแบบการใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ (new normal) ที่ปรับมาสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ความต้องการด้านสุขอนามัยสูงขึ้น มีส่วนทำให้หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจด้านดิจิทัล (digital platform) เติบโตได้ดี เช่นกัน ขณะที่การผ่อนคลายการควบคุมโรคระบาดลงในครึ่งหลังของปี ทำให้ผลการดำเนินงานของ บจ. ดีขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/2563 ทุกรายการ” นายแมนพงศ์ กล่าว

ด้านผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ของปี 63 มียอดขายรวม 166,884 ล้านบาท ลดลง 7.2% มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก 6,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% และมีกำไรสุทธิ 3,371 ล้านบาท ลดลง 63.0% จากปีก่อน

ด้านบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) รายงานผลการดำเนินงานปี 63 โดยมียอดขายรวม 166,884 ล้านบาท ลดลง 7.2% มีกำไรจากการดำเนินงาน 6,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% ขณะที่กำไรสุทธิรวม 3,371 ล้านบาท ลดลง 63.0% ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นการฟื้นตัวของ บจ. ในครึ่งหลังของปี

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาด mai เปิดเผยว่า บจ.ใน mai จำนวน 169 บริษัท คิดเป็น 95% จากทั้งหมด 177 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC บริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวดและบริษัทที่นำส่งงบไม่ทันตามกำหนด) นำส่งผลการดำเนินงานปี 63 รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 114 บริษัท คิดเป็น 67% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด

ผลการดำเนินงานปี 63 บจ. mai มียอดขายรวม 166,884 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บจ. สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น โดยมีต้นทุนรวม 130,013 ล้านบาท ลดลง 7.4% ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 21.9% เป็น 22.1% และมีกำไรจากการดำเนินงาน (operating profit) 6,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 3.3% เป็น 3.9%

ขณะที่กำไรสุทธิรวม 3,371 ล้านบาท ลดลง 63.0% เนื่องจากในปี 62 มี บจ. แห่งหนึ่งในกลุ่มทรัพยากร บันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุน มูลค่า 3,376 ล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิปี 63 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 62 แต่หากไม่รวมผลของ บจ. ดังกล่าว กำไรสุทธิรวมจะลดลง 26.8% และมีอัตรากำไรสุทธิลดลงจาก 4.8% เป็น 2.0%

“ในปี 63 การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการดำเนินงานของ บจ. mai ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมส่งผลให้ยอดขายรวมลดลง อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 63 หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ประกอบกับหลาย บจ.สามารถปรับตัวและบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถมีอัตราการทำกำไรได้ในระดับที่ดีขึ้น โดยพบ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มเทคโนโลยี” นายประพันธ์ กล่าว

ไตรมาส 4/63 ผลการดำเนินงาน บจ. mai ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 บจ.มียอดขายรวม 45,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% กำไรจากการดำเนินงาน 2,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.5% ขณะที่กำไรสุทธิ 1,270 ล้านบาท ลดลง 19.2%

ในส่วนของฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 281,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากสิ้นปี 62 ขณะที่โครงสร้างเงินทุนรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.10 เท่า เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ 1.03 เท่า

ปัจจุบันมี บจ.ใน mai 177 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค.64) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 398.55 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 283,541 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 2,782 ล้านบาทต่อวัน

Back to top button