
“เศรษฐพุฒิ” ชี้ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพียงพอ รับมือแรงเสียดทาน “ภาษีทรัมป์”
ผู้ว่าการ ธปท. ส่งสัญญาณชัด ปรับลดดอกเบี้ย 2 รอบ รวม 0.50% ในปีนี้ เพียงพอรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ชี้ยังเหลือช่องนโยบายอยู่ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน “ผู้ว่าการพบสื่อมวลชน (Meet the Press)” ในวันนี้ (9 พ.ค.68) ว่า ขณะนี้นโยบายการเงินของไทย ยังมีขีดความสามารถในการรองรับแรงกระแทกจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออก
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 0.50% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ เพียงพอสำหรับการประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น
“ดอกเบี้ยที่ 1.75% ยังมีความยืดหยุ่นเพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบัน และหากเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง ธปท. ก็พร้อมใช้เครื่องมือเพิ่มเติม แต่การขยับนโยบายต้องระมัดระวัง เพราะกระสุนที่มีอยู่ไม่มาก และต้องใช้ให้ตรงเป้าหมายที่สุด” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า มาตรการที่ออกมาในระยะต่อไป จะไม่ใช่นโยบายกระตุ้นแบบเหมารวมทั้งระบบ แต่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือ “เฉพาะกลุ่ม” ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง หรือมีความเปราะบางเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมส่งออก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยางล้อ, อาหารแปรรูป และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเบี่ยงเส้นทางการค้า และสินค้าทะลักเข้าสู่ตลาดในประเทศ
ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน ย้ำว่า โจทย์ของนโยบายเศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่ใช่การเร่งให้เศรษฐกิจโตเหมือนเดิม แต่คือการช่วยให้เศรษฐกิจปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการค้าโลก
“การใช้ทรัพยากรในตอนนี้ ต้องใช้ให้แม่นและคุ้มค่า เพราะไม่ว่าจะเป็นด้านการคลังหรือนโยบายการเงิน ล้วนมีข้อจำกัด หากใช้อย่างไม่รอบคอบ ผลลัพธ์อาจไม่คุ้มกับต้นทุน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนมาตรการลักษณะโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือ อัดฉีดนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกกลุ่ม
กรณีการทบทวนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความเข้าใจของรัฐบาลต่อบริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป พร้อมขอบคุณที่รัฐบาลรับฟังข้อเสนอแนะจาก ธปท. ซึ่งเน้นการประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าอย่างรอบด้าน
สรุปการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2568
- การประชุมวันที่ 26 ก.พ.68 กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2.00% ต่อปี มีผลทันที จากเหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศ รวมทั้งความเสี่ยงสูงขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก
- การประชุมวันที่ 30 เม.ย.68 กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จาก 2.00% เหลือ 1.75% ต่อปี มีผลทันทีเช่นกัน จากเหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ