“ทีมไทยแลนด์” ยื่นข้อเสนอใหม่ ลดภาษีสหรัฐ หวังปิดดีล 18% สู้ศึกการค้าอาเซียน

รัฐบาลไทยเดินหน้าเต็มสูบ “ทีมไทยแลนด์” นำโดย “พิชัย ชุณหวิชร” เปิดโต๊ะถก USTR เสนอปรับลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เป็น 0% หลายหมื่นรายการ ประธานสรท. หวังได้อัตราภาษีที่แข่งขันได้ราว 18% ใกล้เคียงเวียดนาม–อินโดนีเซีย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ทีมไทยแลนด์” นำโดยนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อยื่นข้อเสนอใหม่ของไทยในการลดภาษีนำเข้า สินค้าจากสหรัฐอเมริกา เป็น 0% ในหลายหมื่นรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าหรือไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้แล้ว โดยแบ่งสมมุติฐานออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

– หากสหรัฐฯ เก็บภาษี 36% ประเมินว่าสินค้ากลุ่มใดได้รับผลกระทบลงลึกถึงแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

– หากเก็บภาษี 20% วิเคราะห์ผลกระทบเป็นรายกลุ่มสินค้า พร้อมจัดมาตรการสนับสนุนเฉพาะด้าน

ทั้งนี้ นายพิชัย จะเจรจาอย่างเป็นทางการกับ USTR ในช่วงค่ำของวันที่ 17 ก.ค. นี้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากทำเนียบรัฐบาล หลังจากวานนี้ได้หารือรายละเอียดกับทีมไทยแลนด์เรียบร้อยแล้ว

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่เวียดนามปิดดีลภาษีได้ 20% อินโดนีเซีย 19% ส่วนไทยต้องการปิดดีลให้ได้ 18% ต่างกัน 1-2% คิดว่า ไทยน่าจะมีโอกาสทำได้ตามเป้าที่วางไว้ และไทยน่าจะไม่เสียเปรียบคู่แข่งสำคัญ 4 ประเทศสำคัญในอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

การเจรจาครั้งนี้มีกรอบเวลาเร่งด่วน เนื่องจากสหรัฐฯ กำหนดเส้นตายให้สรุปข้อตกลงภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 มิเช่นนั้นไทยจะถูกเก็บอัตราภาษีสูงสุด 36% ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคส่งออก

นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสถาบันเตือนว่า หากไทยถูกเก็บภาษีเต็มเพดาน ไม่เพียงแต่กระทบภาคส่งออก แต่ยังอาจกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่า และสร้างแรงขายในตลาดหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลจิสติกส์ ฝ่ายวิเคราะห์ตลาดทุนแนะจับตาความคืบหน้าการเจรจาอย่างใกล้ชิดในช่วง 1–2 สัปดาห์ข้างหน้า

ทีมไทยแลนด์ ยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และลดความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจและแรงงานไทย

Back to top button