“เครือซีพี” เดินหน้าเข้าสู่ปี 33 “โครงการเลี้ยงไก่ไข่” แก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร

“เครือซีพี” หนุน โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เข้าสู่ปีที่ 33 หวังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ชุมชน สอดรับกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยเรื่องภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียนและเยาวชนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล จึงทรงริเริ่มโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในปี 2523 นำร่อง 3 โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแก้ปัญหาเด็กนักเรียนขาดสารอาหาร สร้างเสริมภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร โดยมุ่งเน้นให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียน เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวัน รวมทั้งนักเรียนได้รับความรู้และทักษะด้านการเกษตรแผนใหม่ ก่อนจะขยายพื้นที่การดำเนินงานไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ

โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซึ่งก่อตั้งโดยผู้บริหารและพนักงานของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CP ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ฯ แก้ปัญหาโภชนาการของเด็กนักเรียนและเยาวชน มาดำเนินงานในรูปแบบ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2532 เพื่อมีส่วนเสริมสร้างโภชนาการที่ดีแก่เด็กและเยาวชนในชนบททุกภาคของประเทศไทย ผ่านกิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ และนำผลผลิตไข่ไก่มาประกอบอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ผลผลิตไข่ไก่อีกส่วนหนึ่งที่เกินจากการนำมาเป็นอาหารกลางวัน ถูกนำมาบริหารจัดการด้วยการจำหน่ายให้แก่ชุมชน มีรายได้จากการจำหน่ายไข่ไก่นำกลับมาหมุนเวียนเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการไปได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากผลผลิตไข่ไก่ที่เด็กๆได้รับประทานตลอดช่วงเปิดเทอมแล้ว มูลนิธิฯ วางโมเดลระบบบริหารจัดการโครงการฯ เพื่อให้แต่ละโรงเรียนสามารถดำเนินโครงการได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นเสมือน “ห้องเรียนสังคม” หรือ Social Lab ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทั้งด้านการผลิต การจัดการการเลี้ยงไก่ไข่ในเชิงอาชีพ การเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกหลักวิชาการ เรียนรู้เรื่องของการจัดการผลผลิต การทำบัญชี ระบบสหกรณ์ รวมไปถึงการสร้างทักษะอาชีพ จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ นำไปเป็นทางเลือกอาชีพได้ในอนาคต โดยมีบุคลากรสัตวบาลจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับครูและนักเรียน

ทั้งนี้มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จากการสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้การดูแลของสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และสังกัดอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 33 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 880 โรงเรียน อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 231 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 342 โรงเรียน ภาคกลาง 138 โรงเรียน ภาคตะวันออก 56 โรงเรียน และภาคใต้ 113 โรงเรียน โดยมีซีพีเอฟเป็นภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนโครงการ และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCC-B (Japanese Chamber of Commerce -Bangkok) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เน้นช่วยเหลือโรงเรียนในทุกภูมิภาคที่มีเด็กนักเรียนและเยาวชนมีปัญหาทุพโภชนาการ

สำหรับภายใต้หลักการในการบริหารจัดการโครงการฯ มีมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เป็นผู้บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ อาทิ การก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ และปัจจัยการผลิต และร่วมกับซีพีเอฟคัดเลือกโรงเรียน ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิชาการการเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมทั้งติดตามประสิทธิภาพการเลี้ยงของแต่ละโรงเรียนเพื่อร่วมแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ดีโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 จ.ตาก เป็นโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2-มัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 1,908 คน “ดร.ศิรภัสสร ชุมภูเทพ” ผู้อำนวยการโรงเรียน  กล่าวว่า โรงเรียนฯ เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ตั้งแต่ปี 2559 จำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยง 300 ตัว เด็กๆได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อกลางวันสัปดาห์ละ 2 มื้อ ต้องขอขอบคุณมูลนิธิฯ และซีพีเอฟ ที่ส่งมอบโครงการดีๆ ช่วยให้เด็กเติบโตสมวัย และยังได้ความรู้เรื่องการดูแลไก่ไข่ โรงเรียนสามารถนำมาบูรณาการการเรียนการสอน เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ชุมชนเองก็ได้บริโภคไข่ไก่ในราคาย่อมเยา นอกจากนี้  โครงการนี้ยังตอบโจทย์การผลิตอาหารที่ปลอดภัย การสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืน ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี

ด้านนางลักษณา พรหมพล อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยลาด อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 300 คน เดิมโรงเรียนมีการเลี้ยงไก่ไข่อยู่แล้ว เพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารกลางวัน แต่ก็ได้เพียงสัปดาห์ละ 1 มื้อ หลังจากที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการในปีนี้เป็นปีแรก เริ่มเลี้ยงไก่ล็อตแรก 200  ตัว เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลผลิตไข่ไก่ทำให้เด็กนักเรียนได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารกลางวันสัปดาห์ละ 2 มื้อ โรงเรียนมีโรงเรือนที่เลี้ยงไก่ไข่ที่ได้รับการดูแลด้านสุขาภิบาลที่ดี  ไม่มีกลิ่นรบกวน นักเรียนมีความรับผิดชอบ ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้อง  ชุมชนรอบข้างได้บริโภคไข่ไก่ที่สดและราคาย่อมเยา

ส่วนครูมณี ฦาชา ครูผู้ดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โรงเรียนบ้านกุยแหย่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ได้เริ่มต้นเข้าโครงการฯ เมื่อปี 2553 จาก 100 ตัว และเพิ่มการเลี้ยงเป็น 300 ตัว ในปัจจุบัน เพื่อนำผลผลิตไข่ไก่สำหรับเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน 863 คน ในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถจัดสรรอาหารกลางวันให้กับนักเรียนได้ทุกคน นอกจากนี้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติวิชาการเกษตรเพื่อให้มีประสบการณ์จริง และปรับวิชาการเกษตรเข้าสู่หลักสูตรในวิชาเพิ่มเติมด้วย ขณะที่ชุมชนมีโอกาสซื้อหาไข่ไก่สด สะอาด ปลอดภัย ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด

โดยตลอด 32 ปี ของโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ส่งเสริมเด็กและเยาวชน 180,000 คนเข้าถึงโปรตีนคุณภาพ ได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อกลางวันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ โรงเรียนฯ มีกองทุนสะสมเพื่อใช้หมุนเวียนในโครงการฯ เกิดความร่วมมือระหว่าง ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรม Co-production ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้อาชีพเกษตรธุรกิจ รวมทั้งผลผลิตจากโครงการเอื้อประโยชน์ให้สมาชิกของ 1,972 ชุมชนรอบโรงเรียน สามารถเข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพจากไข่ไก่สด สะอาดและปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม การเลี้ยงไก่ไข่ยังเป็นอาชีพทางเลือกสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองด้วย

สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ชุมชน เป็นโครงการที่มีโอกาสขยายผลไปสู่การสร้างเป็น Social Enterprise และสอดรับกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ในข้อ  2 – Zero Hunger ขจัดความหิวโหย และ ข้อ 3 Good health and well-being สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

Back to top button