TEAMG เตือน! เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุน “เจ้าพระยา”

TEAMG เตือนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ระวังน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงน้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. 65  


นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ออกประกาศ ฉบับที่ 1 เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 16 – 18 มีนาคม 2565 ว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ขอให้ประชาชนที่อยู่บริเวณริมน้ำและไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)

โดยในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี ระวังน้ำทะเลที่หนุนสูงส่งผลให้น้ำมีค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่จุดเสี่ยงพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและเตรียมยกของขึ้นที่สูงในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือน ว่าจะเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 14 – 18 กุมภาพันธ์ และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 ปรากฏว่า กรมชลประทาน ได้วางมาตรการแก้ไขปัญหา ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนป่าสัก เพื่อผลักดันน้ำเค็ม แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่จำกัด จึงได้ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อผลักดันน้ำเค็มให้เจือจาง รวมทั้งควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อไม่ให้กระทบต่อความกร่อยของน้ำประปา

ขณะเดียวกัน จากการตรวจค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาหลักของกรุงเทพมหานคร ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 พบว่าค่าความเค็มอยู่ที่ระดับไม่เกิน 0.22 กรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เกินค่าความเค็มมาตรฐานที่กำหนดในการใช้สำหรับผลิตน้ำประปา (0.25 กรัมต่อลิตร)

สำหรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้  ระดับน้ำทะเลอาจจะไม่สูงเท่ากับช่วงวันที่ 14 – 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และคาดว่าน้ำเค็มจะหนุนสูงขึ้นอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 28 มีนาคม – 3 เมษายน 2565

ทั้งนี้จากการที่กรมชลประทานได้เตรียมป้องกันและเฝ้าระวังค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มการระบายน้ำเพื่อเจือจางความเค็มนั้น สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนที่ใช้น้ำโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และสภาวะน้ำกร่อยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ขณะที่ช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในปีนี้ อาจส่งผลกระทบในวงจำกัด เนื่องด้วยการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกลำน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในอนาคตก็ยังต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจเพิ่มปริมาณมากขึ้น เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้น้ำทะเลหนุนสูงมากขึ้น ซึ่งหากทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ไฟฟ้า และน้ำประปา ก็จะสามารถชะลอการเกิดสภาวะโลกร้อน ชะลอการเกิดน้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกลำน้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาก็จะลดน้อยลง” นายชวลิต กล่าว

Back to top button