OR จับมือ PTTGC จัดโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ”

OR จับมือ PTTGC พร้อมชุมชนบางน้ำผึ้ง ขับเคลื่อนโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ” เพื่อนำสู่กระบวนการรีไซเคิล-อัพไซเคิล ภายใต้แนวคิด “GC YOU เทิร์น แพลตฟอร์ม” แก้ปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน


นายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วย ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และ นางสาวชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ร่วมพิธีเปิดโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ” ที่วัดบางน้ำผึ้งนอก จ.สมุทรปราการ

ทั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือภายใต้การลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งริเริ่มจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง PTTGC และ OR รวมถึงเจ้าหน้าที่จิตอาสาจะร่วมมือกันจัดการขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ทั้ง 2 บริษัทได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมจัดการขยะทะเลในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณมากที่สุดตามการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมกับได้คัดเลือกพื้นที่บริเวณวัดบางน้ำผึ้งนอก ชุมชนบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่โครงการต้นแบบในการรณรงค์ให้ชุมชนหรือคนในพื้นที่ช่วยกันจัดเก็บขยะที่อยู่ในน้ำเพื่อนำขึ้นไปจัดการอย่างถูกวิธี

โดยมีเหตุผลจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มักพบปัญหาขยะริมตลิ่งจำนวนมาก อันอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กิจกรรมในดังกล่าวยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทะเล และเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลกที่จะมาถึงในวันที่ 5 มิถุนายน และวันทะเลโลกที่จะมาถึงในวันที่ 8 มิถุนายนนี้อีกด้วย

ขณะที่ OR ตระหนักถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างมาก พร้อมทั้งได้กำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะจากการดำเนินธุรกิจลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 อีกทั้ง มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2593 มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะผ่านโครงการ “แยก แลก ยิ้ม” สำหรับการจัดการกับปัญหาขยะทะเลนั้น OR ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะและจัดการขยะตั้งแต่ก่อนที่จะลงสู่แม่น้ำลำคลอง

ทั้งนี้จะมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ชุมชนริมน้ำเพื่อลดปริมาณขยะ ส่งเสริมการคัดแยกจัดการอย่างถูกวิธี ควบคู่ไปกับการจัดเก็บขยะจากลำน้ำ ขณะที่พื้นที่วัดบางน้ำผึ้งนอกชุมชนบางน้ำผึ้งนับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานด้าน CSR ของคลังปิโตรเลียมบางจากของ OR ซึ่งสามารถต่อยอดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปได้อีกด้วย

ส่วนการจัดโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ” ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ ลงเรือเก็บขยะในแม่น้ำ, กิจกรรมเก็บขยะบริเวณริมตลิ่ง, กิจกรรมคัดแยกและชั่งน้ำหนักปริมาณขยะ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการคัดแยกขยะ โดยขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้วส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ให้จะถูกส่งต่อให้กับ อบต.บางน้ำผึ้งไปบริหารจัดการอย่างถูกต้อง และส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน

พร้อมกับนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักคิดด้านเศรฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านการจัดการของเสียของ OR (3R Waste Strategy) ได้แก่ Reborn Waste to Value ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรวบรวมของเสีย และขยายผลนำของเสียเหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่อีกครั้ง

ด้าน ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยสมดุล ESG มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2593 ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งริเริ่มและสร้างแนวทางปฏิบัติร่วมกับภาคสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทย ผ่านแนวคิด “GC YOU เทิร์น แพลตฟอร์ม” พร้อมความร่วมมือกับ OR ในโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ” ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจัดการขยะในแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเล ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ส่วนพลาสติกใช้แล้วที่ได้รับการคัดแยกจากกิจกรรมเก็บขยะในครั้งนี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิล เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์

ขณะที่โครงการนี้ จะเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยรักษาระบบนิเวศทางทะเลช่วยผลักดันและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการรับรู้ด้านการคัดแยกและบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงเป็นการขยายผลความร่วมมือภาคปฏิบัติของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อันจะช่วยสังคมได้เห็นถึงประโยชน์ของการคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว ซึ่งหากเราทุกคนแยกและทิ้ง อย่างถูกวิธี พลาสติกจะสามารถกลับ กลับมาสร้างประโยชน์และยังถือเป็นการช่วยลดเส้นทางขยะพลาสติก รักษาระบบนิเวศทางทะเลร่วมกัน อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ OR และ PTTGC ยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่ดำเนินโครงการไปยังชุมชนข้างเคียงหรือพื้นที่วิกฤตของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้และร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะร่วมกับชุมชน รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการจัดเก็บขยะจากลำน้ำ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการขยะในทะเลบริเวณปากแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

Back to top button