ป้าอ้วน กับ ขาใหญ่ลูบคมตลาดทุน
ปลายสัปดาห์ที่แล้วมีบุคคลวงการตลาดหุ้นแชทผ่าน facebook มาหาผม
ธนะชัย ณ นคร
ปลายสัปดาห์ที่แล้วมีบุคคลวงการตลาดหุ้นแชทผ่าน facebook มาหาผม
เขาบอกว่าให้ช่วยดูพอร์ตตารางการซื้อขายของโบรกฯ ให้หน่อย อยากรู้ว่า “ป้าอ้วน” ซื้อหรือขาย
ผมงงไปชั่วครู่ “ป้าอ้วนคือใคร?”…
เธอเป็นขาใหญ่ (ในตลาดหุ้น) รายไหนกัน ทำไมผมตกข่าวนี้ไปได้ เลยถามกลับไปว่า เทรดอยู่โบรกฯ ไหน
คำตอบคือ BLS (บล.บัวหลวง)
เท่านั้นแหละ ถึงบางอ้อทันทีว่า เขาหมายถึงใคร
ส่วนตัวนั้นแอบคิดในใจ ผมเป็นแฟนคลับเขาอยู่นะ…ติดตามอ่านข้อมูลสรุปภาวะตลาดเงิน-ตลาดทุน อยู่ตลอด มาเรียกชื่อแบบนี้ได้อย่างไร ฯลฯ
แต่พอได้ข้อมูลมา เลยบอกกลับไปว่า ตั้งแต่ต้นอาทิตย์ (ที่แล้ว) มาจนถึงวันนี้ (ศุกร์ 15 ต.ค.) BLS มียอดซื้อสุทธินะ
ยอดเมื่อวันจันทร์ และอังคาร ที่ดัชนีลงหนักๆ ก็ซื้อสุทธิ (ผมบอกย้ำไป)
คำตอบที่ได้กลับมาจากอีกฝ่ายคือ แสดงว่า ที่ป้าอ้วนบอกว่า “ซื้อ” นั้น คือ ซื้อจริงๆ ไม่ได้โม้
ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงหนักๆ และตัวเลขการซื้อขายฝั่งนักลงทุนสถาบันมียอดขายสุทธิในหลายๆ วัน
และอาจมีบางวันที่สลับมาเป็นซื้อบ้าง
และทำให้นักลงทุนสถาบัน ถูกมองว่าคือ ”ผู้ร้าย” พร้อมกับโฟกัสไปยัง “กองทุนรวม”
คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ในฐานะนายกสมาคม บลจ. ก็ออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ พร้อมกับอธิบายเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของกองทุนรวมว่าเป็นอย่างไร
ทว่าในส่วนของ บลจ.บัวหลวงนั้น ย้ำว่า แทบจะมีการซื้อมาโดยตลอด
ขณะที่ในมุมมองของนักลงทุนรายย่อย จะมองว่า กองทุนรวมคือ “ผู้ร้าย” หรือจำเลยหากวันนั้นๆ นักลงทุนสถาบันขายออกมาอย่างหนัก
ข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า นักลงทุนสถาบันนั้นมีอยู่ 17-18 ประเภท
เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ธนาคารพาณิชย์, บริษัทประกันชีวิต, บริษัทประกันวินาศภัย, กองทุนรวม, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกองทุนส่วนบุคคลซึ่งบุคคล/ กลุ่มบุคคล / นิติบุคคลที่มอบหมายการจัดการกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวทุกคน / ทุกนิติบุคคลเป็นผู้ลงทุนสถาบัน หรือมีฐานะทางการเงินเป็นไปตามเกณฑ์ของผู้ลงทุน High Net Worth ฯลฯ
หากถามว่า นักลงทุนประเภทสถาบัน พอร์ตใครใหญ่สุด
คำตอบถือ “บริษัทประกันชีวิต”
อย่าง “เอไอเอ” นั้น ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ (สุด) ในตลาดเงิน หรือตลาดตราสารหนี้ และน่าจะรวมถึงในตลาดหุ้น
ตัวเลขสินทรัพย์ลงทุนปัจจุบัน น่าจะถึงระดับ 1 ล้านล้านบาทแล้ว
หากลงทุนในตลาดหุ้นคิดเป็น 10-15% ของสินทรัพย์ลงทุน
นั่นเท่ากับว่า เอไอเอมีสินทรัพย์ลงทุนในตลาดหุ้นกว่า 1-1.5 แสนล้านบาท
หรืออย่างบริษัท บมจ.ไทยประกันชีวิต, บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต ฯลฯ
บริษัทประกันชีวิตเหล่านี้ ต่างมีสินทรัพย์ลงทุนในระดับหลายแสนล้านบาท แต่จะลงทุนในตลาดหุ้นอยู่ในระดับ 10-15% หรืออย่างมากไม่เกิน 20%
หากเป็นในตลาดหุ้น บริษัทประกันชีวิตจะลงทุนระยะยาว ลงทุนในหุ้นปันผลสูงๆ ในกลุ่ม SET50 และ SET100
ส่วนบริษัทประกันภัย (หรือประกันวินาศภัย) เขารับเบี้ยประกันแบบปีต่อปี
ก็มีทั้งลงทุนแบบระยะสั้น และระยะยาว กระจายความเสี่ยงกันไป
กองทุนรวมก็เช่นกัน มีกองทุนที่ลงทุนทั้งแบบระยะยาว อย่างพวก LTF หรือกองทุนหุ้นปันผล และกองทุนประเภทมีกำหนดเวลาแบบสั้นๆ
แต่หากถามว่า นักลงทุนสถาบันที่ซื้อๆ ขายๆ กันทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนประเภทไหน
คำตอบก็คือกองทุนต่างๆ และรวมถึงพวก “ไพรเวทฟันด์” หรือกองทุนส่วนบุคคลด้วย
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่า ไพรเวทฟันด์ทิ้งหุ้นไทยอย่างหนัก
โดยเฉพาะบรรดา “ขาใหญ่” หรือนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทย หลายๆ คนก็เป็นเจ้าของไพรเวทฟันด์ ซึ่งก็มีข่าวว่าถึงกับ “ล้างพอร์ต” กันเลย
ก่อนที่จะมีการอัดกลับ
หรือซื้อเมื่อช่วงปลายอาทิตย์นั่นแหละ
เรื่องหุ้นลงหนักๆ ป้าอ้วน และกองทุนอาจไม่ค่อยเกี่ยวหรอก
ส่วนขาใหญ่นั่งยิ้มสบายใจเลย