แรงกดดันเชิงบวก

ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด ซึ่งยืนยันชัดเจนถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของโลก ที่ชี้นำโดยเฟด


พลวัตปี 2018 :  วิษณุ โชลิตกุล

ในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด ซึ่งยืนยันชัดเจนถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของโลก ที่ชี้นำโดยเฟด

ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ออกมาตามที่ตลาดคาดการณ์ คือ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00%

หากเทียบดอกเบี้ยนโยบายของเฟดยามนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของชาติต่าง ๆ ทั่วโลก (ยกเว้นอินเดียที่มีปัญหาเงินเฟ้อต้องรับมือ) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไทย จะเห็นว่าต่างกันมาก ทำให้ไม่น่าประหลาดใจที่กองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ หรือฟันด์โฟลว์ จะขายทิ้งตราสารหนี้  หุ้น หรือ เงินท้องถิ่นไปถือดอลลาร์สหรัฐแทน เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ประชุม FOMC ระบุว่าจะยังใช้นโยบายการเงินที่ “เข้มข้น” ต่อไป โดยมีการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐยังถูกจำกัดไว้ จากที่นักลงทุนเริ่มเทความสนใจไปยังผลการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปหรือ ECB ที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดด้วย

ภาษาในแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดที่เปลี่ยนแปลงอย่างผิดสังเกต บ่งชี้ให้ “นักอ่านริมฝีปากเฟด” พากันตีความว่า สายเหยี่ยวมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจคราวนี้ชัดเจน

การปรับเปลี่ยนถ้อยคำในแถลงการณ์แสดงความเชื่อมั่นของสายเหยี่ยวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการปรับตัวดีขึ้น โดยระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ปรับตัวขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง” จากเดิมที่ใช้คำว่า “ปรับตัวขึ้นปานกลาง” ในการประชุมเดือน มี.ค.

ส่วนอัตราการว่างงานใช้คำว่า “ลดลง” จากเดิมที่ใช้คำว่า “อยู่ในระดับต่ำ” และเรียกการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนใหม่ว่า “ปรับตัวขึ้น” จากเดิมที่ใช้คำว่า “ชะลอตัวลง”

นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ 2.7% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้ สู่ระดับ 2.10% จากเดิมที่ระดับ 1.9% ส่วนอัตราการว่างงานในปีนี้ เฟดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.6% จากเดิมที่ 3.8%

ความมั่นใจของเฟด แสดงผ่านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ที่ได้เปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าวว่า แนวโน้มของสงครามการค้าถือเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยง แต่ในช่วงที่ผ่านมานั้น ปัจจัยดังกล่าวยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

นายพาวเวลล์ กล่าวว่า บริษัทเอกชนบางแห่งได้แจ้งให้เฟดรับทราบว่า กำลังชะลอการลงทุนและการจ้างงาน อันเนื่องมาจากนโยบายการค้าของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจนถึงขณะนี้

ในระหว่างการแถลงข่าวนั้น ประธานเฟดกล่าวว่า ตนเองจะไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการค้าอย่างเจาะจง แต่เท่าที่เฟดได้รับทราบมาก็คือว่า บริษัทเอกชนของสหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า

ท่าทีล่าสุดของเฟด ถือเป็นชัยชนะของพวกกรรมการเฟด “สายเหยี่ยว” ที่ต้องการสร้างเสถียรภาพตลาดเงินสกัดเงินเฟ้อตามสูตรสำเร็จ

แน่นอนว่า แม้การตัดสินใจของเฟดจะเป็นไปตามคาด ส่งผลเฉพาะหน้าเป็นปฏิกิริยาเข่ากระตุก โดยดัชนีหุ้นในสหรัฐฯ ทุกตัว ก็เลยปรับฐานลงมาเป็นลบทั้งหมดทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างได้รับการคาดหมายว่าจะต้องเป็นแบบนี้ แต่ในระยะยาว จะไม่ได้เสียหายมากนักต่อตลาดในสหรัฐฯ

ผลข้างเคียงที่แท้จริงน่าจะตกกับชาติอื่น ๆ มากกว่า เช่นเกิดแรงกดดันให้ธนาคารกลางทุกแห่งต้องทบทวนว่าควรขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหม่เพื่อรับมือปัญหาทุนไหลออกจากการเก็งกำไร ตัวอย่างชัดเจนเกิดขึ้นแล้วกับประเทศใกล้ ๆ กันอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซียก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกันไปแล้ว

ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ 1.75-2.0% กับ 1.25% ของธปท. ในทางปฏิบัติถือเป็นการ “ส่งแขก” ให้ทุนไหลออกอย่างไม่ต้องสงสัย คำถามคือ ทำไม ธปท.ไม่เลือกเอาการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

คำตอบของผู้บริหาร ธปท. ก็คงทราบกันล่วงหน้าได้เลยว่า “อย่ามายุ่งกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” แต่ในข้อเท็จจริง แรงกดดันที่ตลาดเงินไทยต้องแบกรับคือ ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก

ในช่วงที่ดอกเบี้ยตลาดโลกต่ำติดพื้น สถาบันการเงินทำการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำต่างประเทศค่อนข้างมาก เพื่อมาหากำไรจากในประเทศ การที่ยามนี้ ดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่า ทำให้สภาพคล่องของเม็ดเงินในประเทศลดลง ทำให้เหลือทางเลือกต้องขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยนโยบายของไทยกำลังขยับเข้าหากัน

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ที่จะเกิดขึ้นเมื่อหมดทางเลือกอื่น เป็นข่าวดีของหุ้นธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นแอกหนักอึ้งของลูกหนี้ทั้งหลาย

ทิศทางเช่นนี้ เท่ากับแรงกดดันจากต่างประเทศ จะกลายเป็นปัจจัยบวกสำหรับหุ้นธนาคารใหญ่อย่าง KBANK SCB BBL KTB น่าจะได้รับอานิสงส์ในทางบวก แต่ทั้งนี้ ต้องรอว่าเมื่อใด กนง.ไทยจะประชุมกันเมื่อใด ถึงจะได้เวลาของการทะยานขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร

แรงกดดันเชิงบวกจากเฟดจึงน่าจะมีข่าวดีบางส่วน

Back to top button