TEAMG หุ้นซิ่ง ราคาวิ่งแซงพื้นฐาน

TEAMG กลายเป็นหุ้นบริษัทที่สาม รายล่าสุดที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์เข้มข้นสูงสุดระดับ 3 (T3)


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)  หรือ TEAMG กลายเป็นหุ้นบริษัทที่สาม รายล่าสุดที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์เข้มข้นสูงสุดระดับ 3 (T3) จับแขวนป้าย SP ห้ามการซื้อขายเป็นเวลา 1 วันทำการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา และนับจากนี้จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม  นักลงทุนจะต้องซื้อหุ้นตัวนี้ด้วยบัญชีเงินสด 100% ( Cash Balance) ด้านโบรกเกอร์ก็ไม่นำหุ้นตัวนี้ไปคำนวณวงเงินซื้อขาย และห้ามหักค่าซื้อค่าขายหุ้นในวันเดียวกัน (Net Settlement) ด้วย

โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา หุ้น TEAMG ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 291% (ณ 21 เมษายนก่อนถูก SP) และด้วยความหวือหวานี้ ส่งผลให้ TEAMG กลายเป็นหุ้นอันดับสองใน SET และตลาดหลักทรัพย์  mai ที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงที่สุดในรอบ 4เดือนแรกของปีนี้รองจากหุ้นบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ที่ราคาเพิ่มขึ้น 318% ก่อนจะถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ แขวนเครื่องหมาย T3 แบบใหม่ สั่งพักการซื้อขายไป 2 วันทำการ (เมื่อวันที่ 20 และ 25 เมษายน )

TEAMG ทำธุรกิจให้บริการปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ตั้งแต่การศึกษา ออกแบบ จัดทำรายงาน บริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาหุ้น TEAMG ไม่หวือหวามากนัก ทรงตัวอยู่แถว ๆ 2-3 บาทกว่า ๆ

แต่ในช่วงปลายเดือน มีนาคมเป็นต้นมา ราคาหุ้น TEAMG ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมายืนปิดที่ 11.90 บาท ก่อนจะถูกพักการซื้อขายจากความผิดปกติของราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แจ้งว่า “ธีระชัย รัตนกมลพร” และ “ธิดารัตน์ สุอมรรัตนากุล” ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 258 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ของ “ธีระชัย รัตนกมลพร” ได้เข้าซื้อหุ้น TEAMG ซึ่งเป็นการได้มาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 จำนวน 11.7867% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

ทั้งนี้จากการเข้าถือหุ้นของ “ธีระชัย รัตนกมลพร” และบุคคลตามมาตรา 258 ของ “ธีระชัย รัตนกมลพร” ดังกล่าว ทำให้โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท 10 ลำดับแรกเปลี่ยนแปลงไป คือ กลุ่มครอบครัวรัตนกมลพร กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 จำนวน 80.150 ล้านหุ้นทันที ขณะที่ บริษัท เน็กซเตอร์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ตกชั้นมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองในสัดส่วน 9.9% ด้วยต้นทุนการเข้าซื้อที่ 2.54 บาท (เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 )

“ธีระชัย รัตนกมลพร” อีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในหุ้นที่ร้อนแรงของปีนี้ ด้วยราคาที่พุ่งขึ้นมาถึง 243% ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ TEAMG นั่นเอง แต่หากย้อนหลังกลับไปนับตั้งแต่ DITTO เข้าเทรดในตลาด mai วันแรก (6 พฤษภาคม 2564) ราคาหุ้นตัวนี้วิ่งมาราธอนมา 1,147% แล้ว จากราคาไอพีโอ 7.50 บาท มาที่ 93.50 บาท (ณ 22 เมษายน) ช่วงของการทำราคาสูงสุดตั้งแต่เข้าตลาด

TEAMG  ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ จะยังไม่กระทบต่อการบริหารและนโยบายดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด ทำให้ TEAMG ยังคงเป็นผู้ให้บริการปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ตั้งแต่การศึกษา ออกแบบ จัดทำรายงาน บริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ต่อไป

โดยจากธุรกิจนี้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทยังมีงานที่รอส่งมอบคิดเป็นมูลค่า 3,750 ล้านบาท และในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทได้แจ้งรับงานเพิ่มเติม มูลค่ารวม 490 ล้านบาท จากทั้งหมด 9 โครงการ ซึ่งงานของ TEAMG ส่วนใหญ่มาจากภาครัฐราว 60.4%, เอกชน 27.2%, งานธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 6.8% และงานต่างประเทศ 5.6%

ภายหลังจากถูก SET แขวนป้าน SP ไป 1 วัน ล่าสุด (25 เมษายน) หุ้น TEAMG ยังพยายามจะเดินหน้าพุ่งขึ้นไปแตะ 12.30 บาท แต่มาตรการ T3 ของ SET เบรกความร้อนแรงไว้ ทำให้ราคาหุ้นไปไหนได้ไม่ไกลถอยมาปิดที่ 11.50 บาท

แม้มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ T3 จะเบรกความร้อนแรงหุ้น TEAMG ได้ แต่จากข้อมูลความเคลื่อนไหวในอดีตมาจนถึงขณะนี้ ราคาหุ้น TEAMG ก็อาจจะดูร้อนแรงเกินไป ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน เพราะอัตราส่วนการเงินพื้นฐานเช่น ค่า P/E ก็พุ่งขึ้นไปถึงระดับ 72 เท่าแล้ว จากในอดีต 10-15 เท่า ส่วนค่า P/BV พุ่งไปถึง 8 เท่า จากประมาณ1.5-2 เท่า เช่นกัน

เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานระหว่างปี 2561-2564 TEAMG มีรายได้รวม 1,666.40 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,846.13 ล้านบาท ก่อนจะลดลงมาที่ 1,721.32 ล้านบาท และทรงตัว 1,787.49 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิก็ทรงตัวจาก 113.53 ล้านบาท ไปสูงสุดที่ 119.4 ล้านบาทเมื่อปี 2563 ส่วนปีที่ผ่านมา TEAMG มีกำไรสุทธิ 111.54 ล้านบาท ดังนั้นการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นเกือบ 3 เท่าตัว จึงควรมีพัฒนาการทางธุรกิจที่สำคัญมารองรับ

ในมุมมองของโบรกเกอร์ประเมินว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1 ปีนี้ TEAMG จะเติบโตขึ้นทั้งแบบไตรมาสต่อไตรมาสและในงวดเดียวกันปีก่อน จากการรับรู้งานโครงการขนาดใหญ่ที่รับรู้ต้นทุนไปแล้วบางส่วน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้ง Learning Curve ของธุรกิจ Non-Consulting ก็เริ่มดีขึ้น ทำให้อัตราการทำกำไรจะดีกว่าช่วงเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ปีก่อน

Back to top button