กกพ. เปิด 318 ราย ผ่านรอบเทคนิคขั้นต่ำ ลุยชิงเค้ก “โรงไฟฟ้าหมุนเวียน” 5.2 พันเมกฯ

กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์เทคนิคขั้นต่ำ 318 ราย สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง-ขยะอุตสาหกรรม กำลังผลิต 7,729.08 MW ชิงเค้ก “โรงไฟฟ้าหมุนเวียน” กำลังผลิต 5,200 MW เปิดทางผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการไฟฟ้าได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 523 ราย และต่อมาสำนักงาน กกพ. ได้ประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์คุณสมบัติและมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 27 ราย โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งสิ้นรวม 550 ราย เพื่อเข้าสู่กระบวนพิจารณาคัดเลือก

โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 (ครั้งที่ 832) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณา จำนวน 318 ราย ดังนี้

รายชื่อบริษัทผ่านเกณฑ์คะแนนเทคนิคขั้นต่ำ กกพ.

สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม การไฟฟ้าได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ รวม 26 ราย และไม่มีผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์คุณสมบัติ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2566 (ครั้งที่ 832) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ได้พิจารณาเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผู้ผ่านการพิจารณา จำนวน 18 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 142 เมกะวัตต์

“สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) สามารถใช้สิทธิการยื่นอุทธรณ์พร้อมเอกสารหลักฐานต่อ กกพ. ได้ภายใน 7 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งผล  โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2566 และขยะอุตสาหกรรม ภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th ต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

สำหรับผู้ผ่านการพิจารณาประเภทพลังงานลม มีชื่อของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ภายใต้บริษัทย่อยคือ บริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเมนท์ 6 จำกัด บริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเมนท์ 1 จำกัด นอกจากนั้นยังมี บริษัท วินด์ ทู เพาเวอร์ จำกัด บริษัท วินด์ มหาสารคาม 1 จำกัด ในเครือ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ที่มี บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ถือหุ้น

ส่วนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟร์ม) และโซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System:BESS) มีชื่อของ บริษัทในกลุ่ม WEH) , บ้านปู เน็กซ์ บริษัทย่อยของ BANPU , กลุ่ม GUNKUL , กลุ่มบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO , กลุ่มบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC , กลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA , กลุ่มบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ได้ 13 แห่ง ,บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW , บริษัท อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ 2 แห่ง, บริษัท บางเขนชัย จำกัด (บริษัทย่อยของ บริษัท บมจ.ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP

กลุ่มบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCOO, บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR , บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG , บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN , บริษัท คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ ซิสเต็มส์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CSS, บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP
ส่วนประเภทเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม มี 18 รายมีชื่อของ บริษัท โคลเวอร์ กรีน 3 จำกัด บริษัท โคลเวอร์ กรีน 9 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CV เป็นต้น

Back to top button