‘เครดิต สวิส’ กับตราสาร Basel III AT1 ในไทย

มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) น่าสนใจ เป็นเรื่อง "ตราสาร Basel III AT1 ในไทย"


มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) น่าสนใจ

เป็นเรื่อง “ตราสาร Basel III AT1 ในไทย”

ก.ล.ต. บอกว่า จากวิกฤตธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse)

และการตัดหนี้สูญของตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ ตราสาร Basel III Additional Tier 1 (Basel III AT1) ของธนาคาร

เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทาง “การเงิน” และ “ความเชื่อมั่น” ต่อสถาบันการเงิน

ก.ล.ต. จึงพามาทำความรู้จัก “ตราสาร Basel III AT1″ ในไทย

ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทและพฤติกรรมของผู้ลงทุนไทย

“ตราสาร Basel III AT1” เป็นตราสารที่ใช้ในการระดมทุนของธนาคาร

ตราสารดังกล่าวจะสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์มีช่องทางในการสร้างความเข้มแข็งของเงินทุนกองทุนเพิ่มขึ้น

Basel III Additional Tier1 เป็นตราสารที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระคืนเงินต้น

และมีเงื่อนให้ร่วมรับผลขาดทุน (ถูกตัดเป็นหนี้สูญ/บังคับแปลงเป็นหุ้นสามัญ) เมื่อธนาคารมีเงินกองทุนลดลงต่ำกว่าที่กำหนดหรือเมื่อทางการเข้าช่วยเหลือทางการเงิน

กรณีเครดิต สวิส ประสบปัญหาด้านสถานะทางการเงิน

โดยในปี 2565 ธนาคารขาดทุนสุทธิเกือบ 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

และมีลูกค้าได้ถอนเงินไปกว่า 1.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้วยสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวของธนาคาร ทางรัฐบาลและธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือ

โดยธนาคารกลางได้ให้กู้ยืมเงิน 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยเจรจาให้ UBS เข้ามาซื้อ ด้วยมูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลและธนาคารกลาง

ทำให้ “เข้าเงื่อนไข” ที่จะตัดหนี้ในส่วนของผู้ลงทุนในตราสาร Basel III AT1 ที่เครดิต สวิสได้ออกตราสารดังกล่าวไว้

ในเวลาต่อมาทำให้ผู้ถือตราสาร Basel III AT1 ของ Credit Suisse ได้รับความเสียหายจากการลงทุนที่อาจมากกว่าผู้ถือหุ้น

และผู้ถือตราสารอยู่ในระหว่างเตรียมการฟ้องร้องถึงการตัดหนี้สูญดังกล่าว

หากพิจารณาถึงสถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์ของไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ผลกระทบของวิกฤตกับเครดิต สวิส ต่อระบบการเงินไทย “มีจำกัด”

เหตุเพราะธุรกรรมของธนาคารและกองทุนอยู่ในระดับต่ำ

ประกอบกับ ปัจจุบัน ธปท. มีการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของไทยอย่างเข้มงวด บังคับใช้เกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องกับธนาคารทุกแห่ง

ความเข้มงวดนี้แตกต่างจากบางประเทศที่จะเน้นการกำกับดูแลที่เข้มงวดเฉพาะกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่

และมีความสำคัญเป็นหลัก

รวมถึงสถิติภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความมั่นคงและแข็งแรง

และในปัจจุบันมีการออกตราสาร Basel III AT1 เพื่อเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศและผู้ลงทุนในวงจำกัด ยังไม่มีการเสนอขายตราสารดังกล่าวต่อผู้ลงทุนรายย่อย

ภายใต้หลักเกณฑ์การออกตราสาร Basel III AT1 เพื่อเสนอขายประชาชนทั่วไปในไทย

จะไม่เกิดกรณีที่ผู้ถือตราสาร Basel III AT1 จะได้รับความเสียหายมากกว่าผู้ถือหุ้น

เนื่องจาก ก.ล.ต. ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับตราสาร Basel III เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทและพฤติกรรมของผู้ลงทุนไทย คือ

– การกำหนดเงื่อนไขในการปลดหนี้หรือตัดหนี้เป็นสูญของตราสาร Basel III ว่าจะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากการลดทุนของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น รวมถึงในการปลดหนี้ตามตราสารดังกล่าวจะต้องไม่มากไปกว่าอัตราส่วนของการลดทุนของธนาคาร ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ถือตราสารเสียหายมากกว่าผู้ถือหุ้น

– ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารจะต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยกรณีเสนอขายประชาชนทั่วไปต้องได้รับอันดับความน่าเชื่อถือที่ “investment grade rating” ขึ้นไปเท่านั้น

– ธนาคารพาณิชย์ผู้ออกตราสารต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงินกองทุนเป็นรายเดือนบนเว็บไซต์ของธนาคารด้วย

ก.ล.ต.ได้ทิ้งท้ายว่า ก่อนการลงทุนในตราสารทุกประเภท

ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงและไม่คุ้นเคย

Back to top button