
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 9 ก.พ.59
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 115.18 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 116.75 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1205 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 1.1173 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,303.96 จุด ลดลง 3.61 จุด หรือ 0.28%
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,544.06 ล้านบาท (SET+MAI)
– สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Invester Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.59) อยู่ในกรอบซบเซา (Bearish) ที่ 71.90 ปรับตัวลดลง 3.3% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 74.35
– คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของไทยในปี 2559 ว่าจากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจกดดันการฟื้นตัวภาคส่งออก และราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับภัยแล้งที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยต้องติดตามการเร่งดำเนินนโยบายของภาครัฐและแนวโน้มความเชื่อมั่นของทุกภาคเศรษฐกิจอย่างใกล้ รวมทั้งหากภาครัฐเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเริ่มลงทุนได้ตามเป้าในครึ่งปีหลังของปี 2559 ก็จะเห็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นได้ต่อเนื่อง
– นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นกล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของญี่ปุ่นมีความเคลื่อนไหวอย่างผันผวนและรัฐบาลจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหลังจากที่ดอลลาร์ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ 115 เยน
– รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการเงินระดับภูมิภาคของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (อาเซียน+3) ได้รับการยกระดับให้เป็นหน่วยกิจการระหว่างประเทศ
– สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปทานน้ำมันล้นตลาด โดยระบุว่าปริมาณน้ำมันทั่วโลกช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะอยู่ในภาวะล้นตลาดเพิ่มขึ้นกว่าที่ได้มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากอิรักและอิหร่านได้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน
ด้วยเหตุนี้ ราคาน้ำมันจึงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอีก โดยอุปทานน้ำมันอาจจะสูงกว่าปริมาณการใช้โดยเฉลี่ย 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลในเดือนที่แล้ว และภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดนี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้น หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) เพิ่มปริมาณการผลิต
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์