
คลื่นลมโลกเริ่มสงบ… แต่คลื่นใต้น้ำ “การเมืองไทย” กำลังก่อตัว
แม้ศึกการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกาและจีน จะส่งสัญญาณคลี่คลาย ตลาดโลกฟื้นตัวอย่างมีหวัง... แต่ศึก “การเมือง” ภายในไทย กำลังเกิดคลื่นใต้น้ำ ก่อตัวกลายเป็นปัญหา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ดูเหมือนมีรอยร้าว และส่งผลต่อเสถียรรัฐบาลแพทองธาร
หลังจากโลกต้องเผชิญกับสงครามการค้า (Trade War) ที่เปิดฉากโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยมี “จีน” เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งถูกเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าสูงถึง 145% จีนเองก็ไม่อยู่เฉย ตอบโต้กลับด้วยภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 125% จุดไฟให้ความตึงเครียดทางการค้าปะทุขึ้นทั่วโลก
กระทั่งทั้งสองยักษ์ใหญ่เปิดโต๊ะเจรจา ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะบรรลุข้อตกลง “พักรบชั่วคราว” ด้วยการลดอัตราภาษีลงเหลือ 30% และ 10% เป็นเวลา 90 วัน สัญญาณแห่งความร่วมมือครั้งนี้ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับในเชิงบวก ความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มฟื้นคืน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ SET Index ดีดกลับขึ้นมายืนเหนือ 1,200 จุดได้อีกครั้ง ท่ามกลางแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยกลับเข้ามา แต่เมื่อคลื่นลมภายนอกเริ่มสงบ… คลื่นใต้น้ำในบ้านเรากลับเริ่มกระเพื่อม
จากความร่วมมือสู่ความระแวงในพรรคร่วมรัฐบาล
แต่ท่ามกลางคลื่นลมที่สงบ มักแฝงด้วย “คลื่นใต้น้ำ” อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในส่วนของตลาดทุนไทย “ปัจจัยทางการเมือง” ยังเป็นแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ “เสถียรภาพ” ของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร…แต่แรงกระเพื่อมก็กำลังเพิ่มขึ้นทีละนิด
เพราะการจับมือของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ซึ่งเป็น “รัฐบาลผสม” ที่รวมตัวกันของพรรคเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในสนามการเลือกตั้งนั้น คือพรรค “เพื่อไทย” และพรรค “ภูมิใจไทย” ที่หากขาดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไป ย่อมสะเทือนถึง “เสถียรภาพ” รัฐบาลที่นำไปสู่สภาวะ “เสียงปริ่มน้ำ”
แต่ภาพความไม่ลงรอยกันของ “เพื่อไทย และ “ภูมิใจไทย” เริ่มเห็นร่องรอยชัดเจนขึ้น เห็นได้จากร่าง พ.ร.บ. เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่แม้พรรคร่วมจะเคยเห็นดีเห็นงาม แต่เมื่อเข้าสภาฯ กลับมีเสียงค้านจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย นายไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายคนโตของนายเนวิน ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านอย่างตรงไปตรงมา จนทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงพรรคร่วมกำลัง “ผลักดันนโยบายร่วมกัน” หรือ กำลังถ่วงดุลกันแบบเงียบ ๆ ภายใน?
คลื่นลูกใหม่จากคดี “ฮั้วเลือกตั้ง สว.”
ยังไม่ทันผ่านประเด็นเดิม อีกเรื่องใหญ่ก็จ่อเข้ามา นั่นคือกระแสข่าวการตรวจสอบการเลือกตั้ง “สภาสูง” หรือสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่กำลังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส โดยเฉพาะ “สว.สีน้ำเงิน” ที่ตกเป็นเป้าของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในคดี “ฮั้วเลือกตั้ง” พร้อมเริ่มเรียกบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบ ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองระดับรัฐมนตรี
หลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็น “เกมทางการเมือง” ที่ถูกจุดขึ้นเพื่อเจรจาต่อรอง หรือถ่วงดุลอำนาจในพรรคร่วมรัฐบาล ที่กำลังเผชิญแรงเสียดทานภายในมากขึ้นเรื่อย ๆ
เสียงกระซิบเรื่องงบประมาณ กับความเงียบที่ไม่ปกติ
จากนั้นไม่นานสังคมไทยเริ่มเห็นการขับเคลื่อนตรวจสอบการเลือกตั้ง “สภาสูง” ที่เป็นคำถามคาใจของคนไทยไม่น้อยกับวิธีการเลือกตั้งกันเอง และข้อครหาที่ว่ามีการใช้สายสนกลใน จนทำให้บุคคลที่ถูกวางตัวไว้ติด 1 ใน 10 ของ สว. สายต่าง ๆ ซึ่งล้วนถูกขนานนามว่าเป็น “สว.สีน้ำเงิน” ที่กำลังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตั้งทีมตรวจสอบคดี “ฮั้วเลือกตั้ง สว.” และเริ่มทยอยเรียกบุคคลที่มีหลักฐานเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในสภาสูง และรัฐมนตรีที่มีเส้นทางการเงินเข้าไปเกี่ยวข้อง จนถูกมองว่า คดีนี้ไม่ธรรมดา และอาจเป็นเกมต่อรองทางการเมืองของอีกฝ่าย
ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เกิดข่าวลือในแวดวงการเมืองหนาหูว่า อีกฝ่ายจะเดินเกมเอาคืนผ่านการพิจารณา “งบประมาณปี 69” ที่อาจเกิดเกมตีรวนในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 28 – 30 พ.ค.68 และวุฒิสภาที่จะรับไปพิจารณาต่อในวันที่ 25 – 26 ส.ค. 68
จนเป็นที่มาที่โฆษกพรรคภูมิใจไทย นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี ต้องออกข่าวแจกในช่วงสุดสัปดาห์ ย้ำว่าไม่มีเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทย จะไม่สนับสนุน พ.ร.บ.งบประมาณปี 69 และหลังจากนั้นไม่นานพรรคเพื่อไทย ได้ออกข่าวเช่นกันว่า ไม่ยุบสภาฯ แน่นอน ทุกพรรคยังทำงานร่วมกันได้ และเป็นธรรมดาที่จะมีเกมการเมือง
คดีชั้น 14 กับผลกระทบทางอ้อมที่สะเทือนวงกว้าง
นอกจากคดี “ฮั้วเลือก สว.” ที่เป็นเหมือนร่องรอยที่มีอะไรซ้อนอยู่ในความไม่ลงรอยของ “ขั้วอำนาจ” ทางการเมือง สัญญาณในเรื่องอื่น ๆ ดูเหมือนจะทำให้ปัญหาทางการเมืองเริ่มกลับมาก่อตัวอีกครั้ง และอาจส่งผลต่อ “เสถียรภาพ” ของรัฐบาลไม่น้อย โดยเฉพาะคดีชั้น 14 ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ “แพทยสภา” ออกมาประกาศพักใช้ใบอนุญาตจำนวน 2 คน และตักเตือนอีก 1 คน ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการรักษาและออกมาให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้อาจถูกนำไปใช้ในคดีที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับเรื่องไว้ไต่สวนเอง และกำลังดำเนินกระบวนการพิจารณาในวันที่ 13 มิ.ย.68
ยังไม่นับรวมกรณีที่ศาลอาญา ไม่อนุญาตให้นายทักษิณ เดินทางออกนอกประเทศ แม้จะชี้แจงเหตุผลว่าได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งศาลมองว่า เป็นการเชิญในนามส่วนตัว มิได้ไปในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนประจำปี 2568 ประกอบกับช่วงที่ขอเดินทางไปอยู่ใกล้วันนัดพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาและคดี 112 อาจกระทบต่อกระบวนการพิจารณาของศาลได้
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “คลื่นใต้น้ำ” ที่กำลังกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ และอาจใหญ่กว่าเดิม จนเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง และความไม่แน่นอนของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ซึ่งย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในความต่อเนื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ