
“พิชัย” ชงปลดล็อก “กองทุนประกัน” เพิ่มพอร์ตลงทุนหุ้น ดันตลาดทุนคึกคัก
รองนายกฯ และ รมว.คลัง เร่งคลายกติกาลงทุน หนุน “Treasury Stock” แก้ข้อจำกัดกองทุนประกันชีวิตและประกันภัย ลงทุนในหุ้นได้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าออก “G-Token” เชื่อมตลาดทุน–สินทรัพย์ดิจิทัล รับพฤติกรรมการลงทุนยุคใหม่ ชี้เศรษฐกิจชะลอแต่สภาพคล่องยังเหลือ ย้ำไทยยังเป็น “หลุมหลบภัย” เงินไหลเข้า ต่างชาติรอดูนโยบาย
วันนี้ (26 พ.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา “ปลุกเสน่ห์หุ้น–คริปโทฯ–ทอง ครึ่งปีหลัง!” จัดโดย DailynewsTalk 2025 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดทุนที่แข็งแรง โดยย้ำว่า “หุ้นยังมีเสน่ห์” แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว
“หุ้นยังมีเสน่ห์อยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเรามองอย่างไร เข้าใจกลไกแค่ไหน ถ้าเข้าใจดี หุ้นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงได้แน่นอน” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ระบุ
นายพิชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันตลาดทุนไทยยังมีกฎเกณฑ์หลายประการที่เป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มกองทุนประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งมีสินทรัพย์จำนวนมาก แต่ไม่สามารถลงทุนในหุ้นได้อย่างยืดหยุ่น เนื่องจากติดกติกาล้าสมัย จึงเสนอให้มีการ “ปลดล็อก” ข้อจำกัดเหล่านี้ รวมถึงส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสามารถใช้ “หุ้นซื้อคืน” (Treasury Stock) เป็นเครื่องมือบริหารทุนได้มากขึ้น โดยหากกฎกระทรวงฉบับใหม่แล้วเสร็จ จะช่วยให้ดำเนินการได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการออกพันธบัตรดิจิทัล ภายใต้ชื่อ “G-Token” ว่า เป็นทางเลือกใหม่ในการระดมทุนจากรายย่อย สร้างโอกาสเข้าถึงการลงทุนที่เท่าเทียม และคาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากกว่าการฝากเงินในธนาคาร
ขณะเดียวกัน ยังมีแผนแก้กฎหมายเพื่อเชื่อมโยงการลงทุนระหว่าง “ตลาดทุน” และ “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset) อย่างเป็นระบบ เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามตลาดได้อย่างสะดวก รองรับพฤติกรรมการลงทุนยุคใหม่
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในต่างประเทศว่า บางประเทศเริ่มเปิดให้ใช้คริปโทฯ ซื้อสินค้าโดยผูกกับบัตรเครดิต ซึ่งคนขายจะรับเงินเป็นสกุลท้องถิ่นตามปกติ โดยไม่ทราบว่าผู้ซื้อใช้คริปโทฯ ชำระเงิน ซึ่งโมเดลนี้สามารถนำมาใช้ในไทยได้หากมีระบบรองรับที่ปลอดภัย และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินของประเทศ
รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.9% ขณะที่ในอดีตเคยเติบโตถึง 6–10% แต่เงินในระบบยังคงอยู่ในกองทุนจำนวนมาก สะท้อนถึงความไม่สมดุลด้านโครงสร้าง เมื่อมีการลงทุนขนาดใหญ่ สภาพคล่อง (liquidity) มักไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสด (cash flow) ที่ไหลเข้ามา ส่งผลให้เกิดภาวะเงินตึง และต้องพึ่งพาการกู้เงินจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากในบางช่วงเงินไหลเข้ามามาก แต่ไม่มีช่องทางลงทุนที่ชัดเจน ก็กลายเป็นส่วนเกิน (surplus) พอมีสภาพคล่อง แต่กลับปล่อยกู้ได้น้อย เพราะยังไม่มี trust and confidence ทั้งจากฝั่งผู้ปล่อยสินเชื่อและนักลงทุน
นายพิชัย พร้อมระบุด้วยว่า ไทยยังเป็น “หลุมหลบภัย” (Safe Haven) สำหรับเงินทุนต่างชาติ โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มที่อยู่ในช่วง Wait and See ซึ่งรอดูทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและความพร้อมของระบบก่อนตัดสินใจลงทุนระยะยาว
รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้การลงทุนในต่างประเทศจะง่ายขึ้นในยุคนี้ แต่สำหรับนักลงทุนไทย การลงทุนในบริษัทไทยยังคงได้เปรียบ เพราะเข้าใจธุรกิจและติดตามข้อมูลได้ใกล้ชิดมากกว่า พร้อมย้ำว่า ตลาดทุนจะยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว