
CGSI มอง “การเมืองไทย-เศรษฐกิจโลก” กดดัน SET แนะลงทุน 6 หุ้นท็อปพิก
CGSI มองความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกยังฉุดรั้งตลาดหุ้นไทย กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นปลอดภัยและหุ้นที่เน้นธุรกิจในประเทศ
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่าบริษัทจดทะเบียนที่ศึกษามีกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 1/68 ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เติบโต 40% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มที่กำไรสุทธิเติบโตสูงที่สุดจากไตรมาสก่อนหน้า คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มก่อสร้าง, กลุ่มอาหารและกลุ่มโทรคมนาคม
ส่วนกลุ่มที่มีกำไรสุทธิเติบโตต่ำที่สุดคือ กลุ่มโรงแรม, กลุ่มอุปโภคบริโภคและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ สำหรับกลุ่มที่มีผลประกอบการดีกว่าคาด ได้แก่ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มก่อสร้าง, กลุ่มน้ำมันและก๊าซ, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มโทรคมนาคม ขณะที่กลุ่มที่มีผลประกอบการต่ำกว่าคาด ได้แก่ กลุ่มบริการและกลุ่มขนส่ง
โดย CGSI เชื่อว่าการตอบโต้กันไปมาระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลสองพรรคคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทั้งนี้สถานการณ์ในกรณีที่เลวร้ายสุดสำหรับการเมืองไทยในขณะนี้ คือ การประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เพราะอาจต้องรอไปอีกหกเดือนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ถึงกระนั้นก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น เพราะความขัดแย้งระหว่างสองพรรคการเมืองน่าจะยืดเยื้อ จึงมองว่ากรณีดังกล่าว อาจทำให้ดัชนี SET ดิ่งลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1,100 จุด หรือเท่ากับ P/E 13 เท่า ในปี 69 หรือต่ำกว่า -1SD จากค่าเฉลี่ย 10 ปีเล็กน้อย
ส่วนกรณีเลวร้ายที่สุดอันดับสอง ตามความเห็นของฝ่ายวิเคราะห์ฯคือ การที่พรรคภูมิใจไทยออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ และเนื่องจากเชื่อกันว่าพรรคภูมิใจไทยกุมเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่ จึงมองว่าการออกกฎหมายสำคัญของรัฐสภาอาจมีอุปสรรคท่ามกลางบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน จึงมองว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะสามารถยุบสภา แต่เชื่อว่านักการเมืองไม่อยากเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ยังเหลือวาระอีก 2 ปี ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบหากพรรคการเมืองทั้งสองพรรคยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ในเร็วๆนี้
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า สหรัฐฯ มีแผนเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% เดิมจะมีผลวันที่ 9 เม.ย.68 แต่สหรัฐฯประกาศเลื่อนบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน ทำให้อัตราภาษีตอบโต้ต่อไทยช่วงนี้กลับมาอยู่ที่ 10% รัฐบาลไทยไม่มีแผนตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐ และเตรียมยื่นข้อเสนอต่อเจ้าหน้าที่ของสหรัฐ ได้แก่ การเพิ่มการนำเข้าพลังงาน, อากาศยานและสินค้าเกษตรจากสหรัฐ รวมทั้งสกัดกั้นไม่ให้ประเทศอื่นใช้ไทยเป็นทางผ่านในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ
ฝ่ายวิเคราะห์ฯ มองว่าเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลไทยจะลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร เพราะต้องปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรในประเทศเช่นกัน แต่อาจเปิดทางให้นำเข้าสินค้าเกษตรบางชนิดจากสหรัฐที่กระทบเกษตรกรไทยไม่มาก เช่น อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อวัวจากสหรัฐ ทั้งนี้ เชื่อว่ากลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากสุดหากสหรัฐเริ่มเก็บภาษีตอบโต้อัตรา 36% ในวันที่ 8 ก.ค.68 โดยไม่เลื่อนออกไปอีก คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่คาดว่าปัจจัยลบจากมาตรการภาษีของสหรัฐจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวเพียง 1.8% ในปี 68 และ 1.5% ในปี 69 เทียบกับ 2.5% ในปี 67
โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นประมาณ 10% จากจุดต่ำสุดหลังสถานการณ์การค้าโลกเริ่มลดความตึงเครียด จึงเชื่อว่า ดัชนี SET กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ P/E ล่วงหน้า 12 เดือนประมาณ 12 เท่า แต่เซนติเมนต์เชิงลบจากความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยน่าจะยังกดดันตลาดหุ้นไทย ดังนั้นจึงคงเป้าดัชนี SET สิ้นปี 68 อยู่ที่ 1,200 จุด ซึ่งเท่ากับ P/E 13.4 เท่าในปี 69 หรือ -1SD จากค่าเฉลี่ย 10 ปี
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นปลอดภัยและหุ้นที่เน้นธุรกิจในประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีปัจจัยลบภายนอก จากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนกลุ่มที่มีการทำธุรกิจกับต่างประเทศ เช่น กลุ่มส่งออก, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มปิโตรเคมี รวมทั้งกลุ่มที่ผลประกอบการขึ้นอยู่กับอุปสงค์/อุทานในตลาดโลก เช่น กลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีที่อาจได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น เชื่อว่ากลุ่มที่เน้นธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มปลอดภัย เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค, กลุ่มโทรคมนาคม, กลุ่มการแพทย์, กลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง น่าจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยหุ้น Top pick ประกอบด้วย BDMS, CPN, ERW, GULF, MTC และ PR9 ทั้งนี้ SET อาจมี downside risk หากมาตรการภาษีสหรัฐกระทบไทยมากกว่าคาด รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจช่วยหนุนตลาดหุ้นไทย