4 แบงก์ใหญ่บวกคึก! รับขยาย “คุณสู้ เราช่วย” ถึง 30 ก.ย.68 อุ้มลูกหนี้กว่า 1.8 ล้านราย

4 แบงก์ใหญ่บวกคึก! BBL-KBANK-SCB-KTB รับครม.เคาะขยายเวลามาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ถึงสิ้นไตรมาส 3/68 พร้อมขยายขอบเขต “จ่ายตรง คงทรัพย์” และ “จ่าย ปิด จบ” ควบคู่มาตรการใหม่ช่วยลูกหนี้ NPLs ไม่เกิน 50,000 บาท คาดหนุนภาพรวมคุณภาพสินทรัพย์สถาบันการเงินดีขึ้น ชี้ SCB–KTB–KBANK รับอานิสงส์เด่น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(2 ก.ค.68) ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ขนาดใหญ่บวกคึก นำโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ณ เวลา ณ เวลา 12:04 น.อยู่ที่ระดับ 142.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 1.06% สูงสุดที่ระดับ 143.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 140.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 324.41 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ณ เวลา 12:04 น. อยู่ที่ระดับ 155.50 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 0.65% สูงสุดที่ระดับ 156.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 154.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.15 พัน ล้านบาท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ณ เวลา 12:04 น.อยู่ที่ระดับ 119.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 1.27% สูงสุดที่ระดับ 120.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 118.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 933.69 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 12:04 น.อยู่ที่ระดับ 21.70 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.93% สูงสุดที่ระดับ 21.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 21.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 159.86 ล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มติ ครม. ที่สำคัญวานนี้ ขยายแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ถึง 30 ก.ย.25 ขยายขอบเขตมาตรการเดิม

-มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ขยายขอบเขตใหม่ดังนี้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1-30 วัน โดยเคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งประเภทลูกหนี้และวิธีการให้ความช่วยเหลือยังคงเหมือนเดิม โดยกลุ่มลูกหนี้ คือ ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน วงเงินต่อสถาบันการเงิน < 5 ล้านบาท, ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อ+จำนำทะเบียนรถ วงเงิน < 0.8 ล้านบาท และ สินเชื่อ SMEs วงเงินต่อสถาบันการเงิน < 5 ล้านบาท

-มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ขยายให้ครอบคลุมภาระหนี้จำนวน 10,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และ 30,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) ซึ่งวิธีการให้ความช่วยเหลือยังคงเหมือนเดิม คือ ลูกหนี้จ่ายเพียง 10% เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชีทันที
เพิ่มมาตรการใหม่

-ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ NPLs ซึ่งมีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่ร้อยละ 2 ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้เลยหากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี

โดยรัฐบาลประเมินจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 1.8 ล้านราย หรือ 2.0 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 3.1 แสนล้านบาท (1.9% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด) จากขอบเขตที่ครอบคลุม 8.9 แสนล้านบาท (5.4% ของของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยมีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติลงทะเบียน 5.2 แสนล้านบาท) เราประเมินเป็นจิตวิทยาบวกต่อกลุ่มธนาคาร แม้เราคาดว่ารายได้ดอกเบี้ย (NII) ของสถาบันการเงินที่หายไปจากการช่วยเหลือลูกหนี้ จะถูกชดเชยกับค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) และหนี้เสีย NPL ที่ลดลง แต่น่าจะช่วยภาพรวมคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารดีขึ้น หนุนโอกาสกลับมาปล่อยสินเชื่อใหม่ๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ประเมินธนาคารรับประโยชน์สูง คือ กลุ่มที่มีสินเชื่อเข้าข่ายมาตรการสัดส่วนสูงๆ อาทิ SCB (65% ของสินเชื่อ) KTB (57% ของสินเชื่อ) KBANK (54% ของสินเชื่อ) โดยปัจจุบันทางพื้นฐาน เลือก KTB และ KBANK เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม

Back to top button