
AOT วิ่งต่อ 6% จ่อขึ้นค่า PSC เทียบเท่า “ชางงี” ดันรายได้เพิ่มปีละ 300 ล้าน
AOT บวกต่อ % ชงขึ้นค่า PSC อีก 5 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีผลต้นปี 69 ซึ่งจะดันรายได้เพิ่มปีละ 200-300 บาท โดยการเพิ่มค่า PSC ทุก 100 บาท จะดันรายได้เพิ่ม 3,000 ล้านบาทต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ก.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ณ เวลา 10:38 น. อยู่ที่ระดับ 38.50 บาท บวก 2.25 บาท หรือ 6.21% สูงสุดที่ระดับ 38.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 36.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.34 พันล้านบาท
ด้าน นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า AOT เตรียมการปรับโครงสร้างรายได้ใหม่ เช่น การขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) และค่าธรรมเนียมการขึ้นลงและจอดพัก (Landing & Parking) รวมทั้งเก็บค่าธรรมเนียมการเดินทางแบบ Transit (การเดินทางที่มีการแวะพักแล้วทำการเดินทางต่อด้วยเที่ยวบินเดิม) และแบบ Transfer (การเดินทางที่มีการแวะพัก มีการเปลี่ยนเครื่องบิน และเที่ยวบินเพื่อเดินทางต่อ) เพื่อเพิ่มรายได้ที่มาจากธุรกิจการบินโดยตรง (Aero) ซึ่งปัจจุบันยังต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล
“กลยุทธ์การเติบโตของเราจะเป็นไปอย่างยั่งยืน และความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดขององค์กร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน” นางสาวปวีณา กล่าว
โดย AOT ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้าง และเพิ่มรายได้จากทั้งแหล่งรายได้หลักจากธุรกิจการบิน (Aero) และรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำการบินโดยตรง (Non-Aero) เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน และมั่นคงยิ่งขึ้น การดำเนินการเหล่านี้เชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญหลายประการที่ AOT เผชิญอยู่ ทั้งในด้านการเงิน การลงทุน และการบริหารจัดการ
สำหรับแนวทางการเพิ่มรายได้ AOT มีดังนี้ ส่วนที่ 1) รายได้ธุรกิจ Aero เช่น ค่าบริการผู้โดยสารขาออก หรือ PSC, ค่าธรรมเนียมการขึ้นลงและจอด (Landing & Parking) AOT โดยบริษัทได้เสนอไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพื่อขอปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) อีก 5 บาท จากปัจจุบันผู้โดยสารระหว่างประเทศจัดเก็บที่ 730 บาทต่อคน เป็น 735 บาทต่อคน และผู้โดยสารในประเทศจัดเก็บที่ 130 บาทต่อคน เป็น 135 บาทต่อคน ซึ่ง AOT ได้เข้าชี้แจงต่อ CAAT จนได้ข้อยุติแล้ว และ CAAT เห็นด้วยกับอัตราดังกล่าว
โดยขั้นตอนจากนี้ CAAT จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เพื่อขอความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ประมาณเดือนตุลาคมนี้ หากได้รับการอนุมัติจะใช้เวลาประกาศล่วงหน้าประมาณ 4 เดือนจึงจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2569 โดยการปรับค่า PSC ตามอัตราดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ของ AOT ปรับเพิ่มขึ้นอีก 200-300 ล้านบาทต่อปี
เนื่องจากปัจจุบัน AOT ต้องแบกรับต้นทุนค่า PSC สูงกว่าอัตราที่จัดเก็บ โดยเฉพาะผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ที่มีต้นทุน PSC ที่ 160 บาทต่อคน แต่จัดเก็บที่ 130 บาทต่อคน ส่วนผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศนั้น ต้นทุนกับอัตราที่จัดเก็บก็เกือบจะใกล้เคียงกัน
ขณะเดียวกัน เห็นว่าการที่รัฐบาลต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคนั้น จำเป็นต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในอัตราที่แข่งขันได้ เพื่อให้ AOT สามารถนำรายได้มาปรับปรุงหรือจัดหาวัสดุอุปกรณ์ พัฒนาระบบต่าง ๆ ให้ทันสมัย อย่างกรณีท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ที่จัดเก็บค่า PSC ที่ 1,200 บาทต่อคน ซึ่งสูงกว่า AOT มาก
ขณะที่ค่าธรรมเนียมที่สนามบินเรียกเก็บจากสายการบินสำหรับการนำเครื่องบินลงจอด (Landing) และจอดพัก (Parking) เปรียบเทียบกับสนามบินในต่างประเทศ เช่น ชางงี สิงคโปร์ รายได้จากค่า Landing & Parking ของ AOT ยังต่ำกว่ามาก โดยเครื่องบิน Code C (จำวนที่นั่ง 160-180 ที่นั่ง ซึ่งเป็นคิดเป็น 70-80% ของเครื่องบินที่ใช้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ) หนึ่งลำ AOT ได้รายได้ประมาณ 120,000 บาท ขณะที่ชางงีได้ 350,000 บาท
นอกจากนี้ AOT มีบริการบางอย่างที่ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่าย ทั้งที่สามารถสร้างรายได้ เช่น ค่าไฟฟ้าและลมเย็นสำหรับเครื่องบิน (PCL) ที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคิดเป็นรายได้ที่สูญเสียไปถึง 400 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งค่าบริการรถพยาบาล
นางสาวปวีณา เปิดเผยถึง แนวทางการเพิ่มรายได้ ว่า AOT มีแผนที่จะปรับขึ้นค่า PSC อีกในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าทุก 100 บาทที่ปรับเพิ่มขึ้น จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาทต่อปี การดำเนินการนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ PSC เป็นแหล่งกำไรที่สามารถนำไปลงทุนได้
ส่วนการปรับค่า Landing & Parking สามารถปรับขึ้นได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพียงขออนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) การปรับค่าจอดรถที่สนามบินดอนเมืองเพียงเล็กน้อย สามารถเพิ่มรายได้ได้ถึง 40 ล้านบาท
รวมทั้งมีแผนจะเก็บค่าธรรมเนียมการเดินทางแบบ Transit (การเดินทางที่มีการแวะพักแล้วทำการเดินทางต่อด้วยเที่ยวบินเดิม) และแบบ Transfer (การเดินทางที่มีการแวะพัก มีการเปลี่ยนเครื่องบิน และเที่ยวบินเพื่อเดินทางต่อ) ในอนาคต โดยตัวเลขผู้โดยสารในปี 2567 แบบ Transit อยู่ที่ 2.7 แสนคน และ ตัวเลขเดินทางแบบ แบบ Transit อยู่ที่ 3.8 ล้านคน ซึ่งจะจัดเก็บค่าเฉลี่ยต่อหัว
ทั้งนี้ในต่างประเทศมีการเก็บประมาณ 200-600 บาทต่อหัว ซึ่งจะเสนอต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
สำหรับการเก็บค่าบริการที่เคยให้ฟรี เช่น ค่า PCL และค่าบริการรถพยาบาล ซึ่งถูกมองว่าเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ที่ทำได้ง่าย โดย AOT ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่ม Aero จาก 54% ให้เป็นกว่า 60% เพื่อให้โครงสร้างรายได้มีความสมดุลและมั่นคงยิ่งขึ้น
ด้านความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 วงเงิน 29,390.76 ล้านบาท และโครงการให้บริการคลังสินค้า (คาร์โก้) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 3 วงเงิน 37,914.56 ล้านบาทนั้น ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) อยู่ระหว่างการเปิดข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอทางการเงิน) ของผู้ยื่นข้อเสนอ 2 รายที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค (ซองที่ 2) แล้ว คือ บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA และ บริษัท แบ็กส์บริการภาคพื้น จํากัด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการคัดเลือกช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ขณะที่โครงการให้สิทธิประกอบกิจการให้บริการคาร์โก้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 วงเงิน 15,253 ล้านบาท และโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น และการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 วงเงิน 9,000 ล้านบาทนั้น ทาง AOT คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้พร้อมกันช่วงปลายปีนี้