จับตา! “ทีมไทยแลนด์” ถก USTR ค่ำนี้ ลุ้นปิดดีล “ภาษีสหรัฐ” ต่ำกว่า 36%

ลุ้น “ทีมไทยแลนด์” ถก USTR ต่ออีกยกค่ำวันนี้ ต่อรองลดภาษีศุลกากรสหรัฐลงจาก 36% พร้อมเสนอโมเดล Total Asset ชูแต้มต่อ RVC ไทยเหนือเวียดนาม ย้ำต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบต่ออุตสาหกรรม-เกษตรกรในประเทศ


นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ หารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์วานนี้ (16 ก.ค.68) และจะมีการหารืออย่างเป็นทางการกับทางสหรัฐค่ำวันนี้ (17 ก.ค.68) โดยคาดหวังว่าข้อเสนอใหม่นี้จะช่วยให้สหรัฐฯ พิจารณาปรับลดภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ให้แก่สินค้าของไทยลงจากระดับ 36% ที่สหรัฐฯ เคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้

โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นายชลัฐ รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ถาม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลังเรื่อง ภาษีทรัมป์ แต่ รมว.คลัง มีหนังสือแจ้งว่า ติดภารกิจที่สำคัญ ไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามได้ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ครั้งนี้ออกไป

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทีมไทยแลนด์มีกำหนดการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐเย็นวันนี้ เพื่อเจรจาเรื่องอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีที่ไทยได้รับอยู่ที่ 36% และยังอยู่ในกระบวนการเจรจาเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะไม่ได้ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% ให้กับสหรัฐฯ แบบ 100% เหมือนที่หลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้า

“ทีมไทยแลนด์มุ่งหวังผลลัพธ์การเจรจาที่ดีที่สุด ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักใน 2 มิติ คือ ผลกระทบที่ผู้ส่งออกจะได้รับ และผู้ผลิตในประเทศทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกร ที่จะได้รับผลกระทบหากไทยเปิดเสรีให้สหรัฐ ไม่ใช่แค่มองว่าอัตราภาษีไทยจะได้เท่าไหร่ แต่ต้องมองมิติของผู้ได้รับผลกระทบในประเทศด้วย มันไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ข้อเสนอที่เรายื่นไปเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรสหรัฐ อาจต้องแลกมากับการเปิดตลาด ย่อมมีผู้เดือดร้อน ทีมเจรจาจึงต้องชั่งน้ำหนัก” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ ยังกล่าวอีกว่า ผลการเจรจาภาษีระหว่างสหรัฐ กับเวียดนามว่า มีภาษี 2 อัตรา คือ 20% และ 40% ซึ่งในส่วนนี้มีหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าในประเทศ (Regional Value Content : RVC) เป็นตัววัดสัดส่วนมูลค่าที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับเกณฑ์ใหม่ของสหรัฐฯ ดังนั้น หากสินค้าชนิดนั้นมี local content สูง ก็จะได้ภาษี 20% แต่ถ้ามากเกินเส้นแบ่งของ RVC สินค้านั้นก็จะโดนภาษี 40% ซึ่งเกณฑ์ RVC นี้ แต่ละประเทศจะถูกกำหนดแตกต่างกันออกไป ไม่เท่ากัน

“ถามว่าไทยจะทำแบบเวียดนามได้ไหม คำตอบคือทำได้ เราสามารถยื่นข้อเสนอเป็น total asset ได้เลย และเชื่อว่าหากเรายื่นแบบนั้นเราจะได้ rate ภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนามแน่นอน แต่ถามว่าคุ้มไหม ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกัน และหากไปดูข้อเท็จจริง เราจะพบว่าเวียดนามโดนภาษี 40% เยอะกว่า 20% เพราะเวียดนามเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตในประเทศไม่สูง มีการนำเข้ามา และมาเพิ่มมูลค่าในประเทศเพื่อส่งออก ดังนั้น RVC ของเวียดนามจึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะโดน 40% สูงกว่า 20% เทียบกับไทยที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่โตมานาน มีสัดส่วนการผลิตในประเทศและผลิตในภูมิภาคสูง เพราะฉะนั้นหากใช้เกณฑ์เดียวกัน rate เดียวกัน แปลว่าไทยได้เปรียบมากกว่า ดังนั้น เวลาจะพูดถึงเวียดนามว่าได้ภาษี 20% อย่างเดียวไม่แฟร์ เพราะเขามี 2 rate” นายเผ่าภูมิ กล่าว

Back to top button