
“พิชัย” ยันไม่เปิดภาษี 0% สหรัฐ เตรียมซอฟต์โลน 2 แสนล้าน หนุนเอกชน–เกษตรกร
“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ยืนยันไทยไม่เปิดภาษี 0% ให้สหรัฐ ห่วงกระทบภาคเกษตร–เอกชนไทย เตรียมวงเงินซอฟต์โลน 2 แสนล้านบาท เสริมสภาพคล่องรับมือการค้าโลกผันผวน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเจรจานโยบายภาษีสหรัฐอเมริกายังอยู่ระหว่างฝ่ายปฏิบัติการอัพเดตข้อมูลร่วมกัน เพื่อสรุปตัวเลขต่าง ๆ หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่มผ่านมา
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐนั้น โดยยืนยันว่าไทยยังไม่สามารถเปิดรับข้อเสนอในลักษณะภาษี 0% ได้ในทุกกรณี เนื่องจากจะกระทบต่อพันธกรณีระหว่างประเทศและภาคส่วนสำคัญในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่รัฐบาลต้องปกป้อง
“หากเราเปิด 0% ให้กับประเทศหนึ่ง จะถูกหยิบยกขึ้นมาทันทีว่า เมื่อให้ที่อื่นแล้วก็ต้องให้ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่ค้ากับไทยเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ หากเราให้สินค้า 0% ในสินค้าอ่อนไหวกับสหรัฐ เราก็ต้องให้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายกับภาคธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เราต้องป้องกันมากที่สุด คือกลุ่มเกษตร” นายจุลพันธ์กล่าว
หากยกตัวอย่างของเวียดนามที่สามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้โดยเสียภาษีเพียง 20% แต่สินค้านำเข้าจากสหรัฐกลับไม่เสียภาษี 0% นั้น เกิดจากข้อตกลงเจรจาที่มีมาก่อน และไทยไม่สามารถดำเนินการแบบเดียวกันได้ โดยไม่กระทบพันธกรณี FTA ที่ไทยลงนามไว้กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย เพราะจะเป็นการละเมิดหลัก Most Favoured Nation (MFN) และอาจทำให้ประเทศอื่น ๆ เรียกร้องสิทธิแบบเดียวกัน
“การเจรจาครั้งนี้เราต้องรอให้เขาพิจารณาข้อเสนอของไทยก่อน แล้วค่อยว่ากันว่ามันจะจบตรงไหน แต่ไทยยืนยันว่าเอกชนไทยต้องอยู่ได้ เกษตรกรไทยต้องอยู่ได้” รมช.คลังกล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากการเจรจาทางการค้า ว่ารัฐบาลได้เตรียมวงเงินซอฟต์โลน 200,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนและเกษตรกรให้สามารถปรับตัวและเดินหน้าธุรกิจได้ต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง
“เอกชนจะต้องปรับตัว แต่ภาครัฐก็มีหน้าที่สนับสนุน เช่นเรื่องของซอฟต์โลน 200,000 ล้านบาท ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อเติมให้เอกชนเดินหน้าต่อได้ เกษตรกรยังดำเนินกิจกรรมได้ แรงงานก็อยู่ได้” รมช.คลังกล่าว
สำหรับแนวทางการปรับตัว เขาเน้นให้ภาคเอกชนเร่งขยายตลาด ลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลัก รวมถึงติดตามทิศทางของโลกอย่างใกล้ชิด เพราะวิกฤตในบางช่วงอาจเปิดโอกาสใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน
“ต้องดูให้ครบ ทั้งการลงทุนภายในประเทศ เช่น สินค้าที่สหรัฐมาลงทุนและส่งกลับไปขาย รวมถึงสินค้าที่ไทยผลิตเอง ซึ่งควรได้รับความสำคัญก่อน และสินค้าที่ผลิตในไทยแต่ใช้สิทธิภาษีจากประเทศอื่น ๆ ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดว่าเป็นการผลิตที่มี Local Content เพียงพอหรือไม่” นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งยังไม่มีการหารือในที่ประชุม ครม. เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน โดยมองว่าควรรอให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างเป็นทางการ